Category : Bangkok Weekly

ปรัชญาการศึกษา

by : Admin      2014-05-20      Bangkok Weekly      1 comments

คอลัมน์ คิดใหม่ดอตคอม นิตยสารบางกอก
วันอังคารที่ 3 มีนาคม 2557


        สมัยนี้เขาเรียกว่าสมัยปฏิรูป !         นั่นเป็นเพราะของเดิมสะสมความกระพร่องกระแพร่งไว้จนก่อให้เกิดปัญหาไม่น้อย จนคนจำนวนมากคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะปรับปรุงขนานใหญ่ เปลี่ยนกันแบบถอนราก ถอนโคน เราจึงคุ้นหูกับคำว่า “ปฏิรูปการเมือง” หรือ “ปฏิรูปประเทศ”         

แต่ปฏิรูปที่ผมจะชวนคุยวันนี้แม้ชื่ออาจฟังดูไม่ใหญ่เท่าแต่ความสำคัญนั้นใหญ่ยิ่ง อาจยิ่งกว่าปฏิรูปทั้งสองนั้นก็ได้ เพราะหากส่วนนี้ยังไม่ปรับ ยังไม่ปฏิรูปจะไปหวังเคลื่อนส่วนอื่นคงยากหรือเป็นไปไม่ได้ นั่นคือ “ปฏิรูปการศึกษา”   บางท่านอาจสงสัยว่าก็เห็นเด็กเรียนจบกันสูงขึ้น ไปแข่งขันอะไรก็ได้รางวัลมาทุกบ่อย ทำไมถึงบอกว่าต้องปฏิรูป    คำตอบนั้นคงไม่มีตัวชี้วัดใดดีไปกว่าดูที่ผลที่คาดหวังจากการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผลการสอบ หรือรางวัลดั่งที่ยกมา  แต่เป็นความร่มเย็นเป็นสุขของครอบครัวและสังคมต่างหาก   ครอบครัวทุกวันนี้เป็นอย่างไรรักใคร่ปรองดองกลมเกลียวกันดีไหม หรือมีปัญหาหย่าร้างกันมากขึ้น มีความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น มีปัญหาท้องก่อนแต่งมากขึ้น         หรือในระดับสังคมก็ลองดูว่าสังคมเป็นอย่างไร คนในชาติสมัครสมานสามัคคีกันดีไหม หรือมีแต่ปัญหาอาชญากรรมกันทุกพื้นที่ การทุจริตคอร์รัปชั่นเต็มบ้านเต็มเมือง การขัดแย้งทางความเชื่อ ความคิดรุนแรงจนบานปลาย  ตอบกันได้นะครับ  และปฏิเสธไม่ได้ว่าผลเป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุ ซึ่งเหตุนั้นรากเหง้าของมันก็มาจากคน หรือวิธีคิดของคน วิถีการใช้ชีวิตของคน แรงจูงใจของคน ซึ่งทั้งหมดนั้นก็มาจากฐานการศึกษาที่ส่งให้คนเติบใหญ่ มีความรู้ ความคิด ความเชื่อ และมีแรงจูงใจตามนั้น   ด้วยผลลัพธ์ที่เลวร้ายอย่างชัดแจ้งนี้เองที่ทำให้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปการศึกษาจริง ๆ เสียที และการปฏิรูปนั้นต้องแรงและใหญ่จริง ๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงปรับเปลี่ยนกลไก เครื่องมือ หรือวิธีการทำงาน จัดสรรงบประมาณเพิ่ม หรือเติมเทคโนโลยีแต่อย่างใด แต่ต้องเป็นการปรับเปลี่ยนแบบถอนราก ถอนโคน รื้อกันไปถึงต้นตอของการศึกษากันเลย ว่าที่เราให้ลูกหลานเราร่ำเรียนนั้นเพื่อให้ได้วิชาความรู้ไปหากิน ได้ปริญญาบัตรไปปรับตำแหน่งให้เงินเดือนสูง ๆ หรือเราให้ลูกหลานเราเรียนเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข    จะปฏิรูปต้องตอบคำถามแก่นนี้ให้ได้ก่อน 

ภาษานักนิติศาสตร์เขาเรียกนิติปรัชญา คือแก่นของการที่จะออกกฎหมายฉบับใดมาเป็นเครื่องมือ ในการให้ข้าราชการและภาคเอกชนได้ใช้งาน  พรบ.การศึกษาตลอดชีวิตหากไม่ชัดเรื่องเป้าหมาย และไม่หยั่งลึกให้ถึงแก่นทำไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักหรอกครับ อย่างดีก็แค่ทำให้คนของเรากลายเป็นที่หนึ่งใน AEC หรือแม้แต่ที่หนึ่งในโลก แต่ไม่อาจตอบโจทย์เรื่องความสุข สงบ อบอุ่น เรียกร้อยในสังคมได้ครับ

172.16.0.236 เมือวันที่ : 06 มิถุนายน 2018

สิ่งที่ท่านกล่าวมาทั้งหมด คงต้องเรียกว่าการมีปัญญา หากจะกล่าวถึงการปฎิรูปการศึกษาให้สั้นต้องชัดเจนว่าจะสร้างความรู้หรือสร้างปัญญาให้คนในชาติ ปัญหาคือผู้นำปฏิรูปแยกแยะความหมายของสองคำนี้ได้แค่ไหน...ซึงคาดว่าคงหมดหวัง เอวัง.....


แสดงความคิดเห็น