Category : สุขสโมสร

ไหว้ด้วยสำนึก

by : Admin      2012-07-02      สุขสโมสร      0 comments

คอลัมน์ Family in love นิตยสาร สุขสโมสร

พฤษภาคม 2555



               …ด้วยท่านมิได้ยังชีพอยู่เพื่อตนเอง         ดังนั้นท่านจึงยังชีพอยู่ชั่วนิรันด์…        

               ข้างต้นเป็นคำสอนของท่านเล่าจื้อ ที่ผมมักใช้เปิดการบรรยาย เชิญชวนให้คนหันมาทำความดี หันมาแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขของคนอื่น ซึ่งนั่นจะเป็นความสุขที่แท้จริง อีกทั้งยังคงรักษาชื่อเสียงตนเองและวงศ์ตระกูลให้ดำรงอยู่อย่างยาวนานดั่งที่เรียกว่าชั่วนิรันด์ด้วย    นั่นเป็นช่วงกระตุ้นความสนใจจากผู้ฟังในวินาทีแรก ถัดจากนั้นตามขั้นตอนก็จะกล่าวสวัสดีบรรดาแขกผู้มีเกียรติตามลำดับไป โดยลำดับแรกหากในหมู่ผู้ฟังนั้นมีพระภิกษุสงฆ์ ก็ต้องกราบนมัสการพระท่านก่อน   จำได้ว่าวันนั้นไปพูดให้น้อง ๆ ที่จังหวัดสุราษฏร์ฯฟังกันแล้วมีพระอาจารย์อยู่ด้วย ผมก็ต้องกล่าวกราบนมัสการท่านพร้อมยกมือขึ้นเหนือหัว ถัดมาก็กล่าวสวัสดีคณาจารย์พร้อมไหว้ด้วยปลายนิ้วชี้ที่จรดคิ้ว ถัดจากนั้นก็รับไหว้ผู้ฟังที่เป็นรุ่นน้องด้วยพนมมือไว้ระดับอก   ครบถ้วนเสร็จเลยถือโอกาสเสริมเกร็ดความรู้ให้เด็ก ๆ เสียเลย ว่าสังเกตุไหมว่าผมยกมือไหว้บุคคลประเภทต่าง ๆ ในระดับที่ต่างกัน ซึ่งนั่นเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่มีความปราณีต บรรจงในทุกเรื่องแม้แต่เรื่องสามัญที่เราทำอยู่ทุกวันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยไปอีก   แต่ที่สำคัญบรรพบุรุษเราไม่ได้ใส่รายละเอียดไปเพื่อให้ยุ่งยาก หรือเอาไว้ให้ดูขลัง แต่เป็นกุศโลบายที่ไว้เตือนใจ ก่อประโยชน์ให้ผู้ปฏิบัติตาม         

อย่างจะกราบพระให้มือพนมอยู่เหนือหัวไม่ใช่แค่เรื่องของการเทิดทูนอย่างสูงไว้เหนือเกล้าเท่านั้น แต่ลองสังเกตุดูเมื่อมือท่วมหัวนิ้วโป้งเราจะอยู่ที่หว่างคิ้ว หรือหน้าผากพอดี ตำแหน่งนี้ก็คือที่ตั้งของสมองอันเป็นรูปธรรมที่สัมพันธ์ตรงกับ “ปัญญา” และนี่ก็คือการแฝงนัยว่าการไหว้พระก็ด้วย ความระลึกถึงพระคุณของท่านที่เมตตาสั่งสอนให้เราเกิดปัญญา  

ถัดมาคือไหว้ครู อาจารย์นิ้วชี้อยู่ที่หน้าผาก นิ้วโป้งก็จะอยู่ที่ปากพอดี อันนี้แฝงนัยถึงอะไร เด็ก ๆ บางคนอาจยียวนกวนโอ้ยบอกแปลว่าครูขี้บ่น หรือครูเอาแต่สั่ง ก็ถือว่าหยอกเย้ากันเล่นให้น่าเอ็นดู แต่นัยยะที่มากับนิ้งโป้งชี้เข้าปากนี้ก็คือครูเป็นผู้ประสิทธิ ประสาทวิชาให้เรานำไป “เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง”  

ส่วนเวลารับไหว้เพื่อนหรือผู้ที่เท่ากันหรือด้อยกว่าเรารับไหว้กันที่หว่างอก นั่นก็คือการสื่อถึง“ใจ” เราคบกันด้วยใจ มีความจริงใจต่อกัน เอื้ออาทรกัน   แต่นอกจาก 3 ประเภทที่เกิดจริงวันนั้นแล้วยังมีอีกตัวอย่างซึ่งผมไม่ได้กล่าวสวัสดีเป็นตัวอย่างแก่น้อง ๆ นั่นคือ คุณพ่อ – คุณแม่ แต่เมื่อถามว่าจะไหว้ท่านนิ้วโป้งอยู่ไหน ปรากฏว่าน่าชื่นใจมากที่น้อง ๆ ตอบได้ถูกทุกคนว่า ไหว้พ่อ-แม่นิ้วโป้งอยู่ที่จมูก   ใช่ครับ ! นัยยะก็คือท่านให้กำเนิด มอบลมหายใจนี้แก่เรามา แม้บางท่านอาจไม่ได้เลี้ยงดูเราด้วยอาหารทางปากเลยหลังคลอดเราออกมา แต่อย่างน้อยที่สุดลมหายใจทางจมูกนี้ท่านเป็นผู้มอบให้แน่ ๆ

และนี่แหละครับความงดงามของวิถีไทยที่ให้ประโยชน์ต่อผู้เข้าใจ จากวันนี้หากคุณสวัสดีใครด้วยการทำตามระดับที่เหมาะควรแล้ว นอกจากจะมีความงดงามทางกายภาพที่ปรากฏให้คนเห็น ยังงดงามจากภายในที่คุณได้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์องค์เจ้าที่นำความรู้เพื่อพ้นทุกข์มาสอนเรา ระลึกถึงพระคุณบิดามารดาที่มอบลมหายใจแก่เรา ขอบคุณครูบาอาจารย์ที่ท่านเหนื่อยสอนให้เรานำไปเลี้ยงครอบครัวได้ และขอบใจเพื่อนฝูงที่ประคับประคองดูแลสารทุกข์สุกดิบกัน FIL ฉบับนี้ชวนคุณไหว้ให้ด้วยสำนึกกันครับ !


แสดงความคิดเห็น