Category : 40+

วันแรงงาน 

by : Admin      2018-05-01      40+      0 comments

40+ 


ทุกวันที่ 1 พฤษภาคมนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ที่เป็นดั่งผู้สร้างขาติ เพราะเป็นผู้ที่ต้องตรากกรำทำงานหนักในการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ทั้งสนามบิน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า หรือการตัดถนนเพื่อเป็นพื้นฐานให้ประเทศได้ใช้ในการพัฒนา รวมไปถึงต้องทำงานหนักในโรงงาน เหนื่อยยากกับการใช้เครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าออกมาให้ประเทศได้ส่งออกไปนำเงินตราต่างชาติเข้ามา


ผู้ใช้แรงงานจึงเป็นดั่งรากฐานในยุคอุตสาหกรรม เหมือนในยุคเกษตรกรรมที่เราเรียกชาวนา ชาวไร่ว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ทุกวันนี้เรื่องของแรงงานจึงทวีความสำคัญขึ้นมากขึ้น นอกจากความเข้มข้นในการใช้กฏหมายแรงงานควบคุมเรื่องพื้นฐานอย่างค่าจ้างขั้นต่ำแล้วยังเลยไปจนถึงการใช้มาตรการด้านอื่น ๆ มาควบคุมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้มีสวัสดิการ และสันทนาการที่เหมาะสมต่อเพศและวัย เครื่องมือทางภาษีถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมหรือต่อต้านโดยเฉพาะกับการค้าขายระหว่างประเทศ มีตั้งแต่การตั้งกำแพงภาษีสำหรับความไม่ยุติธรรมในการจ้างงานไปจนถึงการคว่ำบาตรไม่ค้่าขายด้วยในกรณีการละเมิดสิทธิของแรงงานอย่างรุนแรง 


นี่ต้องถือว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ ที่มนุษย์ให้ความใส่ใจกับเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์มากขนาดนี้ พยายามจะใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อกดดันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน แต่มองอีกมุมหนึ่งก็อาจต้องฉุกคิดว่าทำไมเวลายิ่งผ่าน เทคโนโลยียิ่งพัฒนา ความรู้ยิ่งก้าวหน้าแต่สำนึกในความสัมพันธ์ดูเหมือนจะยิ่งเสื่อมถอยจนต้องมาอาศัยกลไกทางกฏหมาย ทางด้านการค้า การเงินในการผลักดันคืนความยุติธรรมนั้น ยิ่งเมื่อมองย้อนไปครั้งโบราณกาลจะยิ่งเห็นถึงความแตกต่างอย่างยิ่งของแรงงาน ที่สมัยนั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการทำงานแลกเงิน แต่เป็นการ “ช่วย” กิจการงานของนาย ที่นายก็จะให้การดูแลในแบบที่เรียกว่าเป็น “บริวาร” ดูแลใช้งานด้วยความเอื้ออาทรจนหลายกรณีเลยไปถึงขั้นแทบจะเป็นคนในครอบครัวกันเลย ฝ่ายผู้มอบแรงงานเองก็จะไม่ได้จ้องมองแต่จะตักตวงเอาเงินทองค่าจ้าง พยายามแต่จะอู้ อยากทำงานน้อย ๆ แต่หวังจะได้เงินรางวัลมาก ๆ แต่ทำด้วยความมีส่วนร่วม รู้สึกว่าเป็นเรื่องของตน เจ้านายเจริญตนก็เจริญ เจ้านายย่ำแย่ตนก็เดือดร้อนไปด้วย ธุระนายก็ดั่งธุระตนเช่นกัน


คิดแล้วก็น่าเศร้าไม่น้อยที่ความสัมพันธ์เช่นนี้เหมือนจะจางคลายหายไปจากสังคมโลกจนหมดสิ้น เปลี่ยนไปตามลัทธิทุนนิยมที่ทำให้กลายเป็นการซื้อขายแรงงานกันไป ไม่ใช่คู่สัมพันธ์นายกับบริวารดังเดิม แม้คำว่านาย - บ่าวฟังเผิน ๆ อาจดูเหมือนเป็นสังคมชนชั้น มีความเหลื่อมล้ำแต่หากมองแบบไม่อคติความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างก็เป็นเรื่องของชนชั้นไม่ต่างกัน มีความเหลื่อมล้ำที่อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำถึงต้องใช้กฏหมายมาลดช่องว่างนี้


และหากลองลืมกรอบแนวคิดแบบทุนนิยมที่คุ้นจะใช้อยู่ตลอดก็อาจพบว่าความสัมพันธ์นาย-บ่าวน่าเป็นสัมพันธ์ที่อบอุ่นดูมีความเป็นมนุษย์มากกว่ามากนัก ยิ่งเมื่อหากมาผนวกกับแนวทางการดูแลที่ผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้าประทานไว้ให้ที่เรียกว่า ทิศ 6 อันเป็นหลักปฏิบัติของคู่สถานะต่าง ๆ ในสังคมจะยิ่งพบความเหมาะสมยิ่งกว่า ลองมาดูกันว่าหลักนั้นมีอะไรบ้าง


เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ นายพึงบำรุงบ่าวด้วยสถาน 5


1. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง

2. ด้วยให้อาหารและรางวัล

3. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้

4. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน

5. ด้วยปล่อยในสมัย


บ่าวได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน 5

1. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย

2. เลิกการงานทีหลังนาย

3. ถือเอาแต่ของที่นายให้

4. ทำการงานให้ดีขึ้น

5. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้น ๆ


อ่านแล้วจะเห็นถึงความสัมพันธ์แบบถูกฝา ถูกตัวของคนโบราณ เริ่มจากผู้มีกำลังคือนายดูแลบริวารให้เหมาะหรือสมัยใหม่เรียกว่าการใช้คนให้ถูกกับงาน มอบรางวัลอาหารให้หรือก็คือค่าแรงในปัจจุบัน รักษาพยาบาลหรือก็คือการประกันสังคม และกองทุนทดแทนที่บังคับกันขณะนี้ ให้อาหารแปลก ๆ และจัดเวลาพักก็คือการจัดสันทนาการให้ตามสมควร ที่หากทำได้แค่เพียง 5 สถานง่าย ๆ นี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีกฏหมายแรงงาน สหภาพ สหพันธ์แรงงาน หรือแม้แต่กฏหมายประกันสังคมมาเติมอุดช่องว่างแต่อย่างใด เพราะทุกชีวิตล้วนช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามบทบาทหน้าที่อันพึงกระทำระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


ขณะที่ฝ่ายบ่าวหรือลูกจ้างเมื่อได้รับการดูแลอันเหมาะสมนี้แล้วก็ตอบแทนนายด้วยการขยันทำงาน มาทำงานก่อนนาย เลิกงานหลังนาย ไม่มือไวหยิบฉวยหรือขโมยข้าวของ และไม่เพียงสักแต่ทำงานให้จบ ๆ หมดวันกันไปแต่ยังหมั่นพัฒนางาน จนสุดท้ายช่วยเชิดชูนายหรือองค์กรของตน ที่หากบริวารเป็นดั่งนี้ฝ่ายนายก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินจ้างฝ่ายบุคคลมาคอยควบคุมหรือคอยเอากฏระเบียบมาบีบบังคับให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน


บทความรับวันแรงงานเช่นนี้ก็ขอนำหลักโบราณที่น่าจะสมกับสังคม 4.0 ยิ่งกว่าด้วยซ้ำอย่างทิศ 6 นี้มาฝากให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างได้ลองตรองดูว่าจะอยากเอาวิถีแห่งนาย บ่าวแบบโบราณ นี้กลับมากันไหมครับ



แสดงความคิดเห็น