ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นด้านการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณมากมายที่มีพื้นฐานอิงตามความต้องการใช้เงินของแต่ละบุคคลในแต่ละเดือนว่าเป็นเงินเท่าไหร่ จากนั้นจึงคำนวณเงินที่จะต้องใช้ตั้งแต่อายุ 60 ปีไปจนถึงอายุขัยเฉลี่ยในปัจจุบัน แล้วจึงนำมาตีกลับด้วยอัตราเงินเฟ้อเพื่อย้อนกลับมาเป็นจำนวนเงินที่จะต้องสะสมรายเดือนในปัจจุบันไปจนถึงวันเกษียณ ซึ่งจำนวนเงินจะมากหรือน้อยจะมีความแตกต่างกัน คือหากเริ่มสะสมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย การสะสมต่อเดือนก็จะน้อย ถ้าเริ่มสะสมตอนอายุมาก จำนวนเงินที่จะต้องสะสมก็จะสูงมากจนบางกรณีดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยวิถีการจ้างงานในปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะกับผู้ที่สามารถแบ่งเงินมาออมได้ตามยอดที่คำนวณไว้ แต่เชื่อเถิดว่าคนผู้นั้ก็จะยังรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยและมั่นคงในชีวิตเพียงพออยู่ดี เพราะธรรมชาติแห่งจิตของมนุษย์ย่อมปรุงแต่งความวิตกกังวลขึ้นมาได้เสมอ เช่น กลัวว่าเงินที่เก็บไว้จะสูญหาย ค่าเงินเฟ้อจะมากกว่าโปรแกรมที่คำนวณได้ ค่าอาหารจะเกิดวิกฤตจนที่ประเมินไว้ไม่พอเพียง ซึ่งการจะทำให้รู้สึกมั่นคงได้จริงจึงต้องสาวไปให้ถึงต้นเหตุแห่งความวิตก ซึ่งก็คือความกลัวที่จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ฉะนั้นคำถามที่ควรถามจึงต้องเป็นจะต้องเตรียม “อะไร” ไม่ใช่จะต้องเตรียม “เท่าไหร่” ซึ่งไม่ยากเลยที่จะได้คำตอบว่าสิ่งที่ต้องเตรียมก็คือ “ปัจจัย 4” นั่นเอง
สำหรับวิธีการก็ไม่ยากเริ่มต้นจากอาหาร แทนที่เราจะเสียเวลาไปหาเงินเพิ่ม สู้เรามาหาความรู้ทางด้านการเพาะปลูกพืชสวนครัว ปลูกผักริมรั้ว หรือสิ่งที่เรากินจนถึงจุดที่เรียกว่า “กินที่ปลูก ปลูกที่กิน” ถ้าเราทำได้เงินในส่วนที่จะเตรียมสำหรับค่าอาหาร ก็อาจจะประเมินไว้แค่ของเครื่องปรุง หรืออาหารมื้อพิเศษในแต่ละเดือนก็พอเพียง
ส่วนในเรื่องของยารักษาโรคก็เช่นเดียวกัน คนสมัยโบราณอยู่กันมาได้เป็นพันปีโดยไม่ได้ต้องพึ่งยาแพง ๆ ก็มีสุขภาพที่ดีด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ เราก็ควรหันมาศึกษาเรื่องของการกินเป็นยา เรื่องของสมุนไพรที่ใช้บำรุงและการบำบัดอาการของโรคนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ เราก็หาข้อมูลในเรื่องของสิทธิการพยาบาลที่ทางรัฐมีให้ว่าครอบคลุมจนหมดกังวลหรือยัง หากยังก็ค่อยไปดูในเรื่องของการซื้อประกันเพิ่ม เท่านี้ก็จะหมดกังวลเรื่องการรักษาพยาบาล ที่สำคัญใช้เงินเป็นค่าเบี้ยประกันไม่ได้มากนักเพราะซื้อเท่าที่ขาดอยู่
ขณะที่เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนั้นอาจเป็นเรื่องลำบากเกินกำลังสำหรับคนสมัยใหม่หากจะให้มาถักทอเสื้อผ้าไว้ใช้เอง ปัจจัยนี้เราก็เพียงลงรายละเอียดไปเลยว่าต่อปีเราควรจะมีค่าเสื้อผ้าชุดใหม่สักกี่ตัวเพื่อหมุนเวียนมาแทนชุดเก่าซึ่งตามหลักย่อมไม่มากมายนักอาจซื้อเพิ่มปีละ 2-3 ชุดก็พอเพียงต่อการใช้งาน
ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือที่อยู่อาศัย หากใครมีบ้านอยู่แล้วก็ประเมินเพียงค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำ ค่าไฟ ส่วนถ้าใครก็ไม่มีก็ลองหาข้อมูลเรื่องของบ้านเช่าว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ที่แนะนำคือให้เริ่มปรับปรุงสภาพของบ้านให้เหมาะสมกับการอาศัยยามเฒ่าชราไว้เลย ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาแล้วค่อยทำซึ่งจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายปรับปรุงก้อนใหญ่ เมื่อเราประเมินครบปัจจัยที่จำเป็นในการมีชีวิตอยู่ครบทั้ง 4 ด้านแล้วเราก็จะได้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องใช้เงินจริง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่อยู่ในวิสัยในการแบ่งมาออม ที่สำคัญคือเมื่อเราได้เจาะลึกไปขนาดนี้จะทำให้เราหมดห่วงด้วยเห็นภาพการใช้ชีวิตได้ชัดเจนจริง ๆ ไม่ใช่การประเมินแบบเหมารวมเป็นตัวเงินลอย ๆ ที่ยังคงทิ้งความกังวลเป็นเชื้อไว้อยู่
ลองดูนะครับ ความกังวล ความกลัวมาจากความไม่รู้ เมื่อรู้แล้วย่อมไม่กลัวอีกต่อไปครับ
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา
นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย และนายกสมาคมบ้านปันรัก
#นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย #นายกสมาคมบ้านปันรัก
#คิดใหม่