เมื่อ 2 ปีก่อนคือในปี พ.ศ.2556 นั้นถือเป็นปีถือเป็นปีสำคัญของชาวพุทธ เพราะเป็น 100 ปีชาตกาลของบรมครู 2 รูป รูปแรกคือ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชที่ได้รับความยอมรับอย่างสูงยิ่งจากชาวพุทธทั่วโลกส่วนอีกรูปนั้นเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่ช่วยลงหลักปักฐานงานด้านวิปัสสนาในประเทศให้มั่นคงต่อจาก หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ของท่านนั่นคือ หลวงตาพระมหาบัวญาณสัมปันโน
ขณะที่ในปีหน้าคือ พ.ศ.2559 นั้นก็ถือเป็นปีสำคัญในด้านงานบริหารบ้านเมืองเพราะเป็น 100 ปีชาตกาลของอีก 2 บุคคลสำคัญของชาติคือ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปูชนียบุคคลด้านการเงิน การคลังของประเทศ ทั้งยังเป็นอดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคม รวมถึงยังเป็นผู้นำความคิดด้านการสังคมสงเคราะห์ผู้ปูพื้นฐานการดูแลประชาชนตั้งแต่จากครรถ์มารดาสู่เชิงตะกอน ขณะที่อีกท่านคือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทยิ่งกับพัฒนาการด้านการเมืองของประเทศ ส่วนในปี 2558 นี้ต้องนับว่าเป็นปีสำคัญของชาวสีเลือดหมู และคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเราเพราะเป็น 120 ปีชาตกาลของปูชนียบุคคลของคณะคือ พระเจริญวิษณุกรรม ที่ท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิศวะและในบั้นปลายท่านได้ดำรงตำแหน่งรักษาการณ์อธิการบดีของจุฬาจนเกษียณอายุ
เกียรติประวัติ และคุโณปการต่าง ๆ ที่ท่านสร้างไว้ให้สังคมมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์จนเติบใหญ่ให้เป็นต้นทางแห่งการพัฒนาทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้สังคมได้พัฒนาการไปทั้งทางด้านวัตถุที่ส่งผลต่อจิตใจมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจแล้วทำให้นึกถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกชิ้นหนึ่ง ที่สมัยก่อนตอนดูหนังสายลับไฮเทคมักจะได้เห็นอุปกรณ์ล้ำยุค (ในสมัยนั้น) ชิ่นนี้บ่อย ๆ ในฉากที่เวลาพระเอกจะไปจับผู้ร้ายที่ไหนก็เพียงบอกชื่อสถานที่เข้าไป อุปกรณ์นั้นก็จะขับรถนำทางไปได้เองนั่นคือ
GPS หรือ Global Positioning System ดูแล้วได้แต่ฝันว่าวันหนึ่งอยากมีไว้ใช้จริง ๆ บ้าง ซึ่งเมื่อประเมินจากความรู้ด้านเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนากันขณะนั้นแล้วแม้จะเชื่อมั่นเกินร้อยว่ามนุษย์เราสามารถประดิษฐ์เครื่องนี้มาให้ใช้จริงได้แน่ แต่ที่ไม่นึก ไม่ฝันก็คือมนุษย์จะทำได้เร็วขนาดทันใช้ในชั่วชีวิตของตัวเองนี้ ทั้งยังเร็วขนาดไม่ได้แค่อยู่ในรถสายลับแบบในหนังเท่านั้นแต่กลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน เป็นเรื่องปกติสามัญในสมัยนี้ไปแล้วเสียด้วย
นับเป็นประดิษฐ์กรรมที่อำนวยความสะดวกอย่างมากจนทำให้คนหมดห่วงกับการเดินทางกันได้เลย แต่ที่ต้องห่วงต่อไม่ใช่เรื่องการพัฒนาความแม่นยำของเครื่องที่เขาถึงขนาดต้องจงใจทำให้ไม่แม่นเกินไปนักเพราะอาจจะกระทบด้านความปลอดภัยได้ แต่คือเรื่องความแม่นยำของสมองมนุษย์เองที่จะลดลงจากการพึ่งพาเครื่องที่มากเกินไปส่งผลต่อเนื่องคืออาจทำให้สมองฝ่อเอาได้
ลองสังเกตซิครับเมื่อใดที่เราไม่ได้ทำกิจการงานใดที่ใช้ความคิดนาน ๆ สักพักสมองเหมือนจะไม่คล่องแคล่วว่องไวอย่างเคย นั่นเป็นเพราะปฎิกริยาเคมีในสมองไม่ไปสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อกันเหมือนคนที่ยังได้ใช้ความคิดบ่อย ๆ และที่น่ากลัวต่อจากนั้นคือเมื่อเมื่อคุณภาพ หรือตรรกะการคิดเสียไป สิ่งที่ทดแทนมาคือเรื่องของอารมณ์ มนุษย์ยุคนี้จึงใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เพราะเครื่องมือของเหตุผลคือสมองถูกลดทอนประสิทธิภาพลง ปล่อยให้เครื่องมือของอารมณ์มีกำลังมากขึ้น ของทุกอย่างมีประโยชน์ย่อมมีโทษ เครื่องมือตัวนี้มีประโยชน์มากหากใช้เป็นและใช้อย่างระวังไม่พึ่งพาจนเกินไปจนเคยชินที่จะไม่ใช้ความจำ ไหวพริบกัน
นอกจากข้อพึงระวังในการใช้เครื่องแล้ว GPS นี้ยังให้ข้อพึงระวังสำคัญในการใช้ชีวิตที่อยากนำมาฝากอีกประการด้วย GPS จะแม่นยำแค่ไหนแต่หากข้อมูลคือเป้าหมายผิด การทำงาน หรือเส้นทางไปสู่เป้าหมายนั้นย่อมผิดไปด้วย เหมือนศัพท์ที่นักวิศวคอมพิวเตอร์มักใช้กันว่า Garbage In Garbage Out เพราะหากใส่ข้อมูลขยะให้ Super Computer ที่แม้จะทรงอานุภาพปานใด ยังไงเสียผลลัพธ์ที่ได้ย่อมเพี้ยนแน่
เช่นเดียวกับหากใส่พิกัดผิด หรือกรอกตัวเลขผิดให้ GPS เครื่องก็อาจพาคุณไปเมืองอื่นคนละทิศได้แล้ว ดังนั้นหากจะใช้ก็ต้องตรวจสอบหลังจากเครื่องประมวลผลให้ดีว่ากำลังพาเราไปสู่จุดหมายที่ต้องการจริง ๆ หรือไม่ รวมถึงเส้นทางที่เครื่องจัดมาเดินให้นั้นสามารถใช้ได้จริง ไม่ใช่เป็นถนนขาด แต่การประมาทในใส่เป้าหมายให้ GPS จนเครื่องนำร่างกายเราไปผิดที่นั้นยังเทียบไม่ได้กับการประมาทในการใส่เป้าหมายให้ “ชีวิต” จนเครื่องนำทางจิตของเราไปผิดทางจริงหรือไม่ที่ทุกวันนี้เราถูกค่านิยมภายนอกซึ่งมาจากใครก็ไม่ทราบมาตั้งเป็นเป้าหมายชีวิต มาคีย์พิกัดเข้าจิตเราเอง ทั้งเราก็ไม่ได้ตรวจเป้าหมายสุดท้ายที่จะไปให้ชัดว่าเมื่อถึงเป้าหมายแล้วสภาพมันจะเป็นเช่นไร ไม่ได้สำรวจเส้นทางที่ต้องไปให้ชัวร์ว่าเราจะระหว่างการเดินทางเราจะได้เจออะไรบ้าง เราเอาแต่รีบจ้ำ รีบเดินตามทางตามที่เครื่องนั้นให้มากันเลยเพราะกลัวจะไปถึงช้ากว่าเพื่อนๆ
จริงหรือไม่ ที่เกิดมาพอรู้ความเราก็ถูกตั้งเป้าหมายให้ได้เช้าเรียนในโรงเรียนมีชื่อ
จริงหรือไม่ ที่พอเริ่มเรียนชั้นสูงระดับมัธยมเราก็ถูกตั้งเป้าหมายให้ต้องสอบเอ็นทรานซ์เข้าไปเรียนในคณะยอดนิยมของสถาบันชั้นนำของประเทศ
จริงหรือไม่ ที่พอเรียนใกล้จบอุดมศึกษาเราก็ถูกตั้งเป้าหมายให้ต้องเข้าทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่จะของในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม
จริงหรือไม่ ที่จากนั้นกลุ่มหนึ่งจะถูกตั้งเป้าหมายให้ต้องได้เลื่อนตำแหน่งไปสู่ฝ่ายบริหารที่มีอำนาจได้รับเงินเดือนสูง ๆ สวัสดิการมาก ๆ ขณะที่อีกกลุ่มจะถูกตั้งเป้าหมายให้ออกมาก่อตั้งกิจการค้าของตัวเองและดำเนินการจนประสบความสำเร็จมีกำไรมากมายมหาศาล
จริงหรือไม่ ที่จากจุดนี้ก็จะกลับมามีเป้าหมายร่วมกันอีกคือการมีครอบครัวที่ดีมีลูกที่น่ารัก เรียนเก่งเป็นที่ภาคภูมิใจแก่วงศ์ตระกูล(และแน่นอนว่าก็ไปตั่งเป้าหมายอัตโนมัติให้ลูกว่าลูกจะต้องมีเป้าหมายในการเข้าเรียนโรงเรียนมีชื่อเหมือนที่เราผ่านมาแล้ว)และสุดท้ายก็จะถูกตั้งเป้าหมายว่าขอจากโลกนี้ไปอย่างไม่ทรมาน ให้ดีคือหลับไปเฉย ๆ เลย
คนส่วนใหญ่เป็นกันเช่นนี้ไหมลองตอบกันเองดูนะครับ !คนประมาทในการใช้ GPS ใส่พิกัดโดยไม่ยอมตรวจสอบความถูกต้องจนทำให้ไปผิดเมืองเสียเวลาเสียหายนานาว่าแย่แล้ว แต่หลายคนไม่เพียงแต่ไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของพิกัดชีวิตเท่านั้นยังถึงขั้นไม่ใส่พิกัดด้วยตนเองด้วย เสียงภายนอกบอกว่าไปเมืองนี้ดีก็ตั้งโปรแกรมไปเลย คนรอบตัวบอกเมืองนี้แจ๋วก็บอก GPS(จิต) จัดแผนที่มาให้เลย แถมยังสักแต่เดินตามด้วยความวางใจเครื่องอย่างไม่ยอมหยุดมาตรองแล้วเฉลียวว่าที่เขาว่ามานั้นถูกจริงไหม
จนสุดท้ายเมื่อถึงเป้าหมายกับกลายเป็นสถานที่ชื่อเดียวกันแต่คนละเมืองไปเสีย เราอยากมีชีวิตที่มี “ความสุข” แต่เราถูกใส่พิกัดให้เดินทางไปบนเส้นทางของการสร้างความ “ร่ำรวย” โดยไม่มีแผนที่ที่เชื่อถือได้มาตรวจสอบ ทำให้หลายคนไม่ถึงเพราะเครื่องพาไปเจอถนนขาด พาไปลงหลุมบ่อ หรือพาไปตกเหว เพราะโปรแกรมเมอร์ไปเลือกใช้แผนที่ของบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่กี่ร้อยปียังพัฒนาแผนที่ไม่ดีพออย่างบริษัทที่ชื่อ “ทุนนิยม” หรือแม้บางคนอาจไปจนถึงที่หมายก็ยังต้องผิดหวังอีกเพราะกลายเป็นคนละเมือง ซึ่งหากตรวจทานเป้าหมายเสียหน่อยก็จะเห็นได้ไม่ยากว่าแค่ชื่อก็ต่างกันแล้ว “ความสุข” – “ความรวย” ที่นอกจากจะอยู่คนละพิกัดแล้วดูแผนที่ให้ดีจะเห็นว่าอยู่กันคนละทิศเสียด้วย
เคยได้ยินปราชญ์ท่านหนึ่งของสังคมกล่าวไว้ว่า ความสุขนั้นเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของทุนนิยม
ฟังเผิน ๆ ไม่อยากจะเชื่อแต่หากตรองให้ดีจะเห็นจริง ก็หากคนมีความสุข คนก็ไม่ต้องหาซื้อ Gadget รุ่นล่า ไม่ต้องหาซื้อแฟชั่นอินเทรนด์ ไม่ต้องไปกินอาหารหรู ๆ เพื่อชดเชยความพร่องในใจ หรือเติม (สิ่งที่คิดเอาเอง) ว่าจะทำให้เราสุขนั้นเข้ามา ทุนนิยมก็จะขาดรายได้ไป ดังนั้นเขาจึงพยายามทำให้ผู้ใช้ไม่สุขเต็มที่ สุขแค่ชั่วครู่เพื่อจะได้หาซื้อวัตถุมาถมใจที่พร้องอยู่ตลอดเวลานี้ต่อไป ที่น่าหวาดเสียวคือคนมักมารู้เอาว่าไปผิดที่ก็ตอนที่น้ำมันใกล้หมด หันหัวรถกลับไม่ไหวแล้ว
ลองตรวจ เป้าหมาย กับแผนที่ ที่คุณใส่ให้ GPS (จิต)ของคุณรึยังครับ !