จักรยาน

        สมัยหนึ่งเขาเคยบอกกันว่ารถยนต์นั้นถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตที่คนจะขาดเสียมิได้ ซึ่งก็เหมือนจะจริง สมัยนั้นใครไม่มีรถนี่เดินทางทีแทบจะขาดใจกันเลย         แต่แล้วด้วยการเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ทั้งทางระบบราง ทางน้ำ หรือแม้แต่ทางอากาศทำให้รถไม่จำเป็นถึงขนาดจะเป็นจะตายอีกต่อไป และนอกจากไม่จำเป็นแล้วยัง “เกินจำเป็น” ด้วย เพราะเมื่อระบบขนส่งมวลชนมีเพียงพอและทั่วถึงแล้วพาหนะที่เหมาะกับมนุษย์มากที่สุดควรเป็น “จักรยาน” ครับ         ข้อดีของจักรยานที่ชัดเจน แน่นอนคือเรื่องของน้ำมันที่จักรยานนั้นไม่ต้องเหนื่อยหาเงิน (มาก ๆ) เพื่อไปหาซื้อน้ำมัน (แพง ๆ) มาใช้ ซึ่งนอกจากจะประหยัดเงินในกระเป๋าแล้วยังเป็นการลดการสร้างมลพิษ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมที่ได้ผลดียิ่งด้วย และที่สำคัญคือเรื่องของสุขภาพที่การปั่นจักรยานก็เท่ากับการได้ออกกำลังกายไปในตัวส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ประหยัดค่าใช่จ่ายในการรักษาพยาบาล ช่วยยืดชีวิตที่มีคุณภาพออกไปด้วย         กายก็ดี จิตก็ดี แถมเงินยังเหลืออีก แบบนี้จักรยานจะไม่ใช่พาหนะแห่งอนาคตได้อย่างไรครับ         ที่เขียนเรื่องจักรยานนี้ไม่ใช่เพราะกระแสฟีเวอร์ในสังคมนะครับ เรื่องนี้ผมเขียนไว้ตั้งแต่ปีก่อนแล้วตอนไปเจอภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับจักรยานนั่นแหละครับ         เคยไปบางรีสอร์ตเห็นเขามีจักรยานไว้ให้เด็ก ๆ ปั่นรดน้ำต้นไม้ คือพอปั่นไปแล้วจะเป็นการหมุนสายพานล้อเพื่อไปดึงน้ำขึ้นมาผ่านหัวรด เห็นแล้วประทับใจครับ เด็ก ๆ ก็ปั่นสนุกได้เล่น ได้ออกกำลังทั้งยังได้สร้างความรักธรรมชาติเข้าไปด้วย         จักรยานรดน้ำในรีสอร์ตว่าไอเดียดีแล้ว มาเจอไอเดียของปราชญ์ชาวบ้านในบ้านเราแล้วยิ่งทึ่งมากกว่าเพราะไม่เพียงรดน้ำต้นไม้ได้แต่ยังไปประยุกต์ใช้กับการสีข้าว การแยกข้าว การอัดก้อนเห็ด การปั่นไฟฟ้า การป้องกันน้ำเน่า ไปถึงกระทั่งดัดแปลงไปขูดมะพร้าว นี่เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ ยังมีอีกมากที่ชาวบ้านเราประยุกต์เอาจักรยานเก่ามาใช้ทุ่นแรงเช่นนี้ ใครไม่เคยทราบ ไม่เคยเห็นก็ลองหาโอกาสดูนะครับ เห็นแล้ว ทราบแล้วจะทึ่งกับภูมิปัญญาของคนไทยเราจริง ๆ เอาของไม่แพงใกล้ ๆ ตัวมาประยุกต์ใช้ทุ่นแรงในอาชีพของตนได้หลากหลาย งานก็เร็วขึ้น ดีขึ้น คนทำเหนื่อยน้อยลง ที่สำคัญไม่ผล่าผลาญทรัพยากรสำคัญอย่างน้ำมัน หรือไฟฟ้าอีกด้วย ประสบการณ์ที่สั่งสมมาบวกกับปัญญาที่ไม่แพ้ใครมาดัดแปลงประดิษฐ์จนเหมาะกับงานชนิดนักฟิสิกส์อาจยังทำไม่ได้เท่าเลย         ภูมิปัญญา ความรู้ วัฒนธรรม รวมถึงสินค้าท้องถิ่นของเราไม่แพ้ใครในโลกจริง ๆ ยิ่งมาเห็นอีกหนึ่งกระแสในสังคมแล้วยิ่งอดนึกเสียดายของดีของเราไม่ได้         เป็นกระแสของของกินเล่นที่สร้างความสุขให้กับหลายครอบครัวโดยเฉพาะยามพักผ่อนด้วยการชมภาพยนตร์ เหมือนเป็นของคู่กันชนิดแยกไม่ออกนั่นคือ “ป๊อบคอร์น” หรือ “ข้าวโพดคั่ว” ครับ         ทุกโรงภาพยนตร์ต้องมีป๊อบคอร์นกับน้ำอัดลมขายเสมอ ไม่เพียงเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมเท่านั้น แต่ยังถือเป็นรายได้หลักของทุกโรง หลายโรงค่าตั๋วยังถูกกว่าค่าป๊อบคอร์นเสียอีก ยิ่งกับโรงที่ทันสมัยหน่อยป๊อบคอร์นนี้แพงชนิดกินอาหารมื้อหรูได้ทั้งมื้อเลยจนหลายคนเผลอเรียกป๊อบคอร์นนี้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ทางการตลาดด้วยซ้ำ ก็จากเมล็ดข้าวโพดคั่วต้นทุนหลักสิบบาทคั่วมาเพิ่มมูลค่าด้วยแพ็กเกจกับจุดขาย ทำให้ขายกันได้เป็นหลักร้อยสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นสิบ ๆ เท่า         แต่หากใครเผลอ (เหมือนผม) คิดว่านั่นเป็นมหัศจรรย์ทางการตลาดของป๊อบคอร์นแล้วต้องบอกว่ายังไม่ใช่ครับ เพราะปัจจุบันมีความมหัศจรรย์สุดยอดกว่านั้น มีป๊อบคอร์นยอดนิยมที่แม้จะออกในต่างประเทศมานานแล้วแต่มากระชากใจคนไทยเราเอาเมื่อไม่กี่ปีก่อนร่ำลือขนาดใครไปประเทศที่มีป๊อบคอร์นยี่ห้อนี้ขายเป็นต้องแห่แหนกันไปต่อคิวยาวเหยียดรอซื้อเพื่อหิ้วขึ้นเครื่องบิน ข้ามน้ำ ข้ามทะเลกลับมาฝากญาติมิตรในเมืองไทยด้วย (ปัจจุบันเมืองไทยเรามีคนนำเข้ามาแล้วครับ)         แว็บแรกที่ได้ยินกระแสนี้ประกอบกับเห็นรูปถุงใส่ขนาดไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก ก็คิดในใจว่าราคาคงสักหลักร้อย แต่ที่ไหนได้ราคาที่มหาชนต่อคิวรอซื้อกันถุงย่อม ๆ นั้นตกถุงละ 500 กว่าบาทหากไซส์ใหญ่กว่านั้น พันกว่า สองพันกว่าก็มี         พอทราบราคาก็ไม่รู้จะอุทานด้วยคำใดล่ะครับที่ขายหน้าโรงหนังที่ว่าแพง ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้ว มาเจอกระแสใหม่นี่เกือบช๊อกกันไปเลย         แต่หลังจากทำใจได้ก็เลยอด “คิดใหม่” ไม่ได้ว่าทำไมต่างชาติเขามีของกินขึ้นชื่อให้คนเห่อหอบกลับบ้านไปฝากเพื่อนได้ ของไทยเราซึ่งมีตำหรับอาหารกินเล่นมากมายทำไมถึงจะทำบ้างไม่ได้         ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมชั้น อีกสารพัดขนมที่กินง่ายถูกปากชาวต่างชาติหากเรามาพัฒนาหีบห่อ พร้อมทำตลาด สร้างกระแสให้ขึ้นชื่อเหมือนอย่างโดนัท ข้าวโพดคั่ว หรือขนมปังใส่ใส้ที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับไปฝากกัน         รัฐอยากให้ทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็น่าจะลองลงทุนทำวิจัย สำรวจตลาดเป็นข้อมูลให้ภาคเอกชนหน่อย นำร่องไว้เชื่อว่าเดี๋ยวย่อมมีพ่อค้าคนไทยสานต่อได้ เพราะเงื่อนไขสำคัญคือตัวผลิตภัณฑ์นั้นเราไม่กังวลถึงคุณภาพอยู่แล้ว เพียงแต่จะสร้างกระแสได้อย่างไรเท่านั้น บทนี้ขอเขียนเรื่องเบา ๆ เขียนภาพจากความฝันของผมบ้าง ผมฝันย้อนไปถึงสมัยเด็ก ๆ ที่ปั่นจักรยานไปซื้อขนมครกครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *