ทุนนิยม ?

        ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1979 อันเป็นจุดเริ่มต้นของโลกาภิวัตน์ ที่วัตน์นี้สะกดด้วย “ต” ไม่ใช่ “ฒ” อย่างที่หลายคนสะกดผิดเป็นโลกาภิวัฒน์ และไปเข้าใจถึงวัฒนา พัฒนาจนคิดว่าโลกจะเจริญอย่างอภิมหาศาลมากมายจนหลงทางฝันประมาทจนมิได้เตรียมตัวรองรับกัน         และปีนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่นี้ก็ด้วยเพราะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นเทคโนโลยีดิจิตอลที่พื้นฐานของสรรพสิ่งถูกแปลงจากลักษณะของคลื่นหรืออนาล็อกมาเป็นแท่งหรือเลขฐาน 2 ทำให้การจัดการ จัดเก็บ ส่งต่อเป็นไปได้อย่างสะดวกไร้ขีดจำกัด และยิ่งมาประกอบกับเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำยิ่งยวดอย่างไฟเบอร์ออพติก สายเคเบิลใยแก้วที่ถูกค้นพบออกมาอย่างได้จังหวะทำให้การเชื่อมต่อ ส่งต่อข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเกินจินตนาการยิ่ง ส่งผลให้สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ถูกพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด         แต่ท่ามกลางสภาพที่เหมือนที่จะมีแต่ความเจริญอย่างหยุดไม่อยู่นั้นอีกมุมหนึ่งโลกก็ได้แสดงความเสื่อมให้เห็นอย่างรั้งไม่ไหวขึ้นเช่นกัน         ทั่วโลกประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั่วโลกประสบปัญหาสังคมที่หนักหนา ทั่วโลกเผชิญกับภัยพิบัติที่เรียกได้เต็มปากว่ามหาภัยพิบัติ ทั้งหมดสร้างความสูญเสียขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ         ซึ่งปัญหาทั้งปวงไม่เว้นแม้แต่ภัยจากธรรมชาติที่น่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาตินั้นหากสาวหาสาเหตุเข้าจริง ๆ กลับล้วนมีสาเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น เพราะมนุษย์ไปเบียดบังธรรมชาติมาก มากจนเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรักษาสมดุลได้ ผลคือธรรมชาติที่เอียงกระเท่จากฝีมือมนุษย์จนการเอียงนั้นทำให้ธรรมชาติจำต้องปรับตัวเพื่อให้ระบบกลับมาสมดุลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จนก่อเกิดเป็นภัยพิบัติขึ้น         เปรียบไปคล้ายกับนักกายกรรมที่แสดงโชว์ชุดหมุนจานบนปลายแท่งเหล็กที่หากหมุนได้สมดุลจานนั้นก็ยังคงหมุนได้อย่างต่อเนื่องสวยงามเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมทั้งโรงละคร แต่เมื่อใดที่จานเอียงเสียสมดุล จานย่อมตกจากปลายแท่งตกพื้นแตกกระจายเรียกเสียงกรี๊ดตกใจจากผู้ชมเช่นกัน         และหากเจาะลึกลงไปอีกก็อาจระบุได้ว่าสาเหตุของความเสื่อมทรามทั้งปวงนั้นล้วนเกิดจากความโลภที่ไม่มีจำกัดของมนุษย์นั่นเอง         ความโลภที่เป็นต้นตอให้ธรรมชาติเสียสมดุลจนก่อเกิดมหันตภัย และความโลภที่ทำให้สังคมเสียสมดุลจนก่อเกิดปัญหาสังคมอย่างรุนแรง         เมื่อมนุษย์เบียดเบียนกันจนสังคมเสียสมดุล บางส่วนโป่งพองขยายใหญ่เอา ๆ ขณะที่บางส่วนถูกบีบให้ต่ำต้อยจากความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ การเข้าถึงและถือครองทรัพยากรอันจำกัดของโลก ทำให้สังคมเกิดไหวไม่ต่างจากการเกิดแผ่นดินไหว สังคมเกิดสึนามิไม่ต่างจากคลื่นยักษ์ซัดฝั่ง เพื่อปรับให้สมดุลสังคมนั้นกลับมาเช่นกัน         ปีค.ศ. 1979 เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างรวดเร็วนี้ แต่ถ้าสาวให้ไกลขึ้นจะเห็นว่าสถานการณ์นี้มีจุดเปลี่ยนสำคัญมาก่อนแล้วนั่นคือตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มนุษย์ได้เปลี่ยนจากการแลกเปลี่ยนสินค้าไปสู่ระบบใหม่ที่เรียกว่า “ทุนนิยม “ ซึ่งใช้เวลาไม่นานเลยที่ระบบนี้ได้กลายเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วจนเป็นเหมือนระบบเดียวที่โลก ”ต้อง” ใช้ พอเกิดมาก็ถูกสอนให้ทำงาน ให้ร่ำรวยโดยอาจไม่เฉลียวใจเลยว่ากำลังถูกสอนให้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ได้สะดุดใจเลยว่าปัญหาทุกชนิดที่กล่าวมาแล้วนั้นมาจากรากของวิธีคิดแบบนี้นี่เอง         ดังนั้นมนุษย์ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ก่อเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้นมาจึงไม่ควรนั่งมองดูปัญหาที่เกิดขึ้นเฉย ๆ มนุษย์ต้องมีส่วนรับผิดชอบ มิเช่นนั้นก็จะเป็นมนุษย์นั่นเองที่อยู่กันอย่างสุขสบายตามหวังไม่ได้ นั่นทำให้บรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นนักลงทุน นักธุรกิจระดับต่าง ๆ ที่เริ่มเห็นว่าหากมนุษย์ผู้อื่นหรือสังคมอยู่ไม่ได้ธุรกิจของเขาหรือตัวเขาก็ย่อมอยู่ไม่ได้ เพราะหากไม่มีลูกค้าหรือลูกค้าไม่มีกำลังซื้อแล้วบริษัทจะผลิตสินค้าไปขายใครกันจนเกิดแนวคิดการทำ Corporation Social Responsibility หรือการรับผิดชอบสังคมขึ้น จนต่อมาได้กลายมาเป็นกลยุทธ์หลักกลยุทธ์หนึ่งของธุรกิจในปัจจุบัน         แต่แม้โดยคร่าว CSR นี้น่าจะเป็นเรื่องดี แต่อาจเป็นเพราะการกระทำนั้นจำนวนมากยังมาจากพื้นฐานของความโลภคือเพื่อเพิ่มหรือรักษาผลประโยชน์ของตน ทำให้ CSR ขาดพลังที่จะช่วยสังคมได้จริง เป็นเพียงเสมือนการปรับตัวทางการบริหารทั่ว ๆ ไปที่จากสมัยหนึ่งที่เคยลงทุนในเครื่องจักร หันมาลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ มาลงทุนในบุคลากร จนมาถึง CSR ซึ่งเหมือนเป็นการลงทุนในลูกค้านั่นเอง         และนั่นทำให้สภาพปัญหาในโลกยังมิได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด กลับทั้งยังทวีความเสื่อมทรามยิ่งขึ้น เพราะโครงการความดีต่าง ๆ กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของความโลภไปอย่างไม่ได้ตั้งใจก็ตาม         หน้าที่ของมนุษย์ขณะนี้จึงเป็นการแสวงหาเครื่องมือชิ้นใหม่ที่จะนำมาซึ่งการแก้ทุกปัญหาในโลกนี้ได้อย่างแท้จริงหรืออย่างน้อยก็เฉลียวใจว่าระบบทุนนิยมที่ใช้อยู่นี้มิใช่ระบบที่ดีที่สุด และไม่ใช่ระบบเดียวที่โลกมี จำเป็นด้วยหรือที่เกิดมาก็จะเชื่อกันเลยว่าจะต้องใช้ชีวิตทำงานหรือลงทุนขายสินค้าเพื่อให้คนอื่นเอาเงินมาให้เราให้เราเอาเงินมาหาซื้อสุขตามความเชื่อของทุนนิยม เป็นไปได้ไหมว่าจะเกิดมาใช้ชีวิตทำงานและลงทุนให้ “ความสุข” คนอื่นและให้คนอื่นจ่าย “ความสุข” คืนแก่เรา         โลกเคยผิดด้วยการใช้กันแต่ GDP จนวันนี้เริ่มหันมามอง GNH แล้วทำไมโลกถึงจะผิดอีกไม่ได้ผิดจากที่เคยเชื่อว่าจะต้อง ลงทุนด้วยเงินเพื่อเงินมาเป็น ลงทุนให้ความสุขเพื่อความสุข

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *