ส่งเสริม หรือ ถ่วงรั้ง ?

สันโดษ
เมื่อพูดถึงคำนี้คุณนึกถึงภาพอะไรขึ้นมาเป็นภาพแรกครับ !หลายคนนึกถึงภาพการมีของใช้จำกัดน้อยชิ้น การมีความเป็นอยู่แบบสมถะ พอมี พอกิน หรือบางคนอาจได้ภาพเลยไปถึงการมีชีวิตแบบยาจก ซอมซ่อก็มีภาพเหล่านี้ไม่สามารถพูดได้เต็มปากนักว่าถูกต้อง โดยเฉพาะภาพซอมซ่อนั้นต้องบอกเลยว่าเป็นภาพที่ผิด เพราะโดยเนื้อแท้ของคำว่าสันโดษแล้วมิได้หมายความถึงว่าจะต้องเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ขัดสนอยู่แบบแสนเข็น หรือเป็นขอทานแต่อย่างใดและนี่เป็นเหตุที่ผมนำคำนี้มาเปิดเป็นประเด็น ก็เพราะด้วยความเข้าใจคำว่าสันโดษคลาดเคลื่อนไปมากนี่เองเราจึงเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปอย่างมหาศาลจนน่าเสียดายครับ
เพราะแม้ปู่ ย่า ตา ยายของเรามักพร่ำกล่าวสอนลูกหลานอยู่เสมอว่า “ให้ดำเนินชีวิตอย่างสันโดษ แล้วจะทำให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง” แต่ด้วยภาพที่ถูกนำไปผูกโยงเข้ากับยาจก ซอมซ่อดังกล่าว เลยทำให้คนฟังปฏิเสธคำสอนอันแสนมีค่านี้ทิ้งไปด้วยเห็นว่าการมีสภาพเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมถูกต้อง สวนทางกับความเจริญ ถ่วงรั้งความศิวิไลซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น ความเห็นผิดนี้เลยเถิดไปถึงขนาดอาจมีผู้มีบทบาทในสังคมมองว่า “สันโดษ” นี้เป็นตัวกีดขวางการพัฒนาประเทศ ทำให้คนไม่ขวนขวายพัฒนางาน สร้างาน สร้างตัว เพราะเชื่อว่าขืนคนสันโดษมาก ๆ จะทำให้ประเทศล้าหลัง ก้าวไม่ทันเพื่อนบ้าน“แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม !”“แปลว่าจะต้องให้เราอยู่กันแบบยาจกทั้ง 70 ล้านคนล่ะหรือ”ย่อมไม่ใช่ครับเพราะดั่งที่เรียนว่าคำว่าสันโดษที่ถูกต้องนั้นเป็นคนละเรื่องกับคำว่ายากจนหรือยาจกเลย
“แล้วสันโดษจริง ๆ คืออะไร ?”
หากเอากันตามตำรามาผนวกกับการตีความของผมแล้วก็อาจสามารถแจกแจงสันโดษออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ยินดีตามที่ได้ ตามที่ควรจะได้ (ยถาลาภสันโดษ) คือ ความพอใจกับการได้มาของสิ่งที่ตนได้เพียรกระทำมาเอง สมกับเหตุที่ตนได้กระทำ ไม่ว่าจะดี จะปราณีต จะหยาบแค่ไหนก็พอใจ ไม่ทุรนทุรายอยากได้สิ่งที่เกินกว่าที่ตนควรได้ ทั้งยังไม่ทุจริต หรือดิ้นรนแสวงหาอย่างไม่ชอบธรรมเพื่อให้ได้มา
  2. ยินดีตามกำลัง หรือยินดีต่อความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น (ยถาพลสันโดษ) คือ หากสิ่งที่ได้ไม่เหมาะกับตนเอง ตนเองไม่สามารถใช้สิ่งนั้นได้ หรือไม่สามารถใช้สิ่งนั้นได้หมดครบถ้วน เช่น ได้อาหารที่ไม่เหมาะแก่ร่างกายของตนเอง ได้ของใช้ที่เกินกำลัง เกินความสามารถที่ตนจะใช้ได้ ได้ข้าวของมาเกินที่จะใช้หมดเพียงลำพัง ก็ไม่หวงแหน รู้จักสละข้าวของนั้นให้กับผู้ที่เหมาะสมกว่า
  3. ยินดีตามสมควร ยินดีตามที่เหมาะสมกับสถานะแห่งตน (ยถาสารุปปสันโดษ) คือ ยินดีต่อสิ่งที่เหมาะแก่ฐานะ สถานะ แนวทางการใช้ชีวิต หรือปณิธาณแห่งตน เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าหรูหราย่อมไม่เหมาะกับพระภิกษุ หรือเป็นข้าราชการ เป็นครู เป็นบุคคลสาธารณะก็ต้องพิจารณาการใช้สิ่งของให้เหมาะแก่บทบาท สถานภาพในสังคมของตนด้วย

และหากจะสรุปให้กระชับก็สามารถกล่าวได้ว่าความสันโดษนี้มุ่งหมายไปถึงความพอเพียงในการใช้สอยปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ ที่หากเราหมั่นพิจารณาทุกครั้งที่จะใช้สอย ทุกครั้งที่จะซื้อหา แสวงหาแล้วจะทำให้ขีวิตเราปลอดโปร่งไปได้มากเหลือเกิน เราจะไม่ดิ้นรนอะไรเกินตัว ไม่อยากได้ของที่เกินกำลัง ไม่มุ่งเอาของที่เกินสถานะจนนำความเครียด ความทุกข์มาให้ เราจะไม่ไปเทียบเขา เทียบเรา ที่เมื่อชีวิตเราเป็นเช่นนี้จะทำให้เรามีใจที่เปิดกว้าง โล่งสบายไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ ที่สำคัญ “เวลา” เราจะเหลือเพิ่มอีกมาก เพราะไม่ถูกใช้ไปกับอะไรที่ไม่จำเป็น และเมื่อเวลาเหลือเพิ่มขึ้นเราย่อมได้ประโยชน์จากการนำเวลานั้นไปใช้สร้างงานให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น เกิดความเจริญแก่ชีวิต สังคมและประเทศชาติมากขึ้นเป็น ทวีคูณหรืออีกนัยยะหนึ่งสันโดษนี้ก็คือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ด้วยการพิจารณาเหตุและผล การพิจารณาความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
และเช่นเดียวกันกับสันโดษ ที่ผมห่วงเป็นส่วนตัวก็คือความเข้าใจ หรือภาพที่คลาดเคลื่อนของคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี้อาจทำให้คนไทยเสียประโยชน์จากหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมาก เพราะพอเผลอไม่พิจารณาให้รอบคอบก็มักจะนึกไปถึงเฉพาะภาพของการทำไร่ ไถนา อยู่กับต้นไม้ใบหญ้าไม่สะดวกสบาย ซึ่งนั่นเป็นเพียงสาขาอาชีพเดียวที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ซึ่งที่จริงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้สามารถนำไปใข้ได้ในทุกวิชาชีพ ไม่เว้นแม้แต่อาชีพทันสทัยอย่างนักเทคโนโลยี นักร้อง นักแสดงย่อมสามารถนำหลักนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล ไว้มีโอกาสจะนำมาขยายอีกครั้งนะครับเห็นไหมครับ กลับทางกันเลย หากเราใช้ชีวิตสันโดษ อย่างพอเพียงเรากลับจะมีชีวิตที่เจริญขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นยาจกดั่งที่เขื่อผิดแบบอัตโนมัติกัน
สรุปคือให้สันโดษในการบริโภคใช้สอย ต่อไปจะกิน จะใช้อะไรก็ไตร่ตรองตามหลักสันโดษนี้ เราก็จะมีเงินเหลือ มีเวลาเพิ่ม มีใจเปิด ก็นำแล้วเอาเวลา ทรัพยากรนั้นมาทุ่มเทพัฒนาตัว พัฒนางานแล้วเช่นนี้ชีวิตจะไม่เจริญได้อย่างไรจริงไหมครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *