โซตัส

ผมเป็นคนตกยุคไม่ค่อยได้ตามข่าวในกระแสเท่าไหร่ แต่หลายเดือนก่อนได้ยินผ่านหูว่ามีบางโซเชียลออกมาต่อต้านระบบ SOTUS ยังไม่มีเวลาเข้าไปดูว่าเขาไม่ชอบ หรือชังกันด้วยเหตุใด แต่ในฐานะเคยผ่านระบบนี้มาเลยลองนำ SOTUS ที่ผมรู้จักและผ่านมาจริงนั้นมาพิจารณาอีกครั้งว่ามีจุดใดที่ไม่เหมาะแก่ยุคสมัยจนควรปรับปรุงไหม  ซึ่งเมื่อดูแล้วก็ไม่พบถึงความล้าสมัยของทั้ง 5 คุณสมบัติที่เป็นส่วนประกอบของวิถีนี้ (ไม่อยากใช้คำว่าระบบ) ทั้งเมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนอาจกลับทางกันคือคุณสมบัติทั้ง 5 ประการนี้กลับยิ่งจำเป็นต่อความสงบเรียบร้อย ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมในยุค 4.0 นี้ด้วยซ้ำไป

ไม่เชื่อลองไล่ดูซิครับ

Seniority หรือการนับถืออาวุโสนี่มิใช่หรือที่ทำให้เด็กไม่ข้ามหัวผู้ใหญ่ ลูกไม่ลำเลิกพ่อแม่,

Order ระเบียบวินัยนี่ก็ไม่ใช่หรือที่เรายิ่งรณรงค์ให้คนเคารพกฎหมายกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีการนำเรื่องธรรมภิบาลเข้ามาเป็นบาทฐานสำคัญของสังคม,

Tradition การดำรงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงาม นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เราพยายามรักษากันไว้ไม่ให้เด็กของเราโตขึ้นแบบไร้ราก ต้องการให้ประเพณีเป็นเครื่องมือใช้นำพาสมาชิกในสังคมให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้,

Unity ด้านความสามัคคีนี่คงไม่มีใครตั้งข้อสงสัย สังคมใดแตกแยกย่อมมีแต่ความพินาศ สังคมใดสมาชิกรักใคร่ข่อมหวังได้ถึงความเจริญ

Spirit ความมีน้ำใจให้กันนี่ก็เช่นกัน ทุกวันนี้เรายิ่งเรียกร้องความมีน้ำใจ การเห็นอก เห็นใจกันของเพื่อนสมาชิก

สรุปแล้วก็ยังไม่เห็นว่ามีข้อใดที่ตกยุค เลยเข้าใจเอาเองว่าที่ต่อต้านอาจไม่ได้มาจากตัว “วิถี” แต่มาจาก “วิธี” ที่แต่ละที่ใช้สร้าง Seniority ด้วยภาวะกดดันให้กับน้อง ๆ ให้เกิดสภาพทุกข์อันจะนำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจกันในหมู่เพื่อนเพื่อให้ก่อเกิด Unity ความสามัคคี และ Spirit ความมีน้ำใจ จนเมื่อผ่านมาแล้วทำให้ผู้ร่วมเกิดความเข้าใจซึ้งถึงคุณค่าใน Tradition ประเพณีรวมถึง Order ระเบียบเพื่อการอยู่ร่วมกันมากขึ้นมากกว่า

ที่เขียนมานี่ก็มิได้จะต่อต้านผู้ต่อต้านแต่อย่างใดเพียงแต่ลองพิจาณาไปตามความเข้าใจเท่านั้นส่วนใครจะใช้วิธี วิถีไหนในการสร้างความกลมเกลียวในหมู่ก็ตามแต่จะเลือกใช้กัน

ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องการสร้างความสามัคคีแล้ว วันนี้ผมเลยอยากนำเครื่องมือในการใช้สร้างสามัคคีตามหลักพระพุทธศาสนามาแนะนำแบ่งปันเผื่อได้นำไปประยุกต์ใช้กันด้วยนะครับ 

หลักธรรมนี้ชื่อว่า “สาธารณียธรรม 6” ข้อพึงปฏิบัติ 6 ข้อเพื่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ ที่นำมาขยายความตามความเข้าใจของผมเองแล้วได้ดังนี้

1. เมตตามโนกรรม หมายถึง การคิดดี ความหวังดี ปรารถนาดีที่มีต่อสังคม การมีใจคิดอยากจะช่วยเหลือ มีความเอื้ออาทร คิดกรุณายามมีใครประสบความเดือดร้อน คิดเกื้อกูลให้สังคมมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้น ไม่อิจฉายามเห็นใครประสบความสำเร็จรวมทั้งการคิดให้อภัย ละความพยาบาท อามาตมาดร้าย ไม่จองเวรซึ่งกันและกันพร้อมเปิดโอกาสให้แก่ความผิดพลาดที่เกิดไปแล้ว             

2. เมตตาวจีกรรม หมายถึง การพูดด้วยความปรารถนาดี การพูดเพื่อช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ไม่พูดดูถูก เหยียบย่ำ ซ้ำเติม พูดเพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ใช้ถ้อยคำพึงประสงค์ไม่พูดหยาบคาย หรือคะนองปาก ที่สำคัญต้องไม่พูดโกหก หรือพูดเพื่อหวังประโยชน์ในทางมิชอบ รวมถึงไม่นินทาว่าร้ายใครลับหลังด้วย                                                                                                                                                                                   

 3. เมตตากายกรรม หมายถึง การกระทำที่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลกันระหว่างคนในสังคม ทำความดีตอบแทนสังคม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มิกระทำเพื่อหวังประโยชน์ มีความซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง รวมถึงเป็นการกระทำที่เหมาะแก่กาละ และเทศะ สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม                                                                                                                                                                                                               

4. สาธารณโภคี หมายถึง การรู้จักสละ แบ่งปันแก่กันและกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ละโมบโลภมากเอาแต่ได้ เอาแต่ผลประโยชน์ของตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ยึดในผลประโยชน์ร่วมของสาธารณะเป็นหลัก       

5. สีลสามัญญตา หมายถึง การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน คือ การมีศีล ยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศ กฏระเบียบในสังคม รวมไปถึงประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ ไม่ละเมิด ฝ่าฝืน ให้ความเคารพ ให้เกียรติ ไม่ก้าวก่ายรุกล้ำกันและกัน                                                   

6. ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึง มีความเชื่อ ความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน แม้จะมีความแตกต่างกันแต่ก็ให้ความยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ยึดแต่ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ นำความเห็นผู้อื่นมาใคร่ครวญพิจารณาอย่างปราศจากอคติพร้อมปรับความคิดตนเพื่อไปสู่ความคิดที่เหมาะสมยิ่งกว่าในสังคม 

ยิ่งพิจารณาแล้วยิ่งทึ่งกับพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก ไม่น่าเชื่อว่าคำสอนที่มอบไว้ให้ร่วม 3 พันปีมาแล้วนี้ยังคงทันสมัยเหมาะกับยุคอย่างยิ่ง ไล่ตั้งแต่การมีเมตตาทั้งภายนอกและภายในที่ครอบคลุมทั้งการทำ การพูด และการคิด ที่หากสมาชิกในสังคมเป็นเช่นนั้นได้ก็แทบจะตัดเหตุกระทบ กระทั่งกันออกไปเลย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่คนกระทบกันทางวาจา ออนไลน์กันมากที่หากทุกคนคีย์ หรือสื่อกันด้วยเมตตาวาจาดั่งที่พระองค์สอนนี้ สังคมจะสงบสุขทั้งสังคมจริง และสังคมออนไลน์

หรือเมื่อพิจารณาเรื่องการสละก็ยื่งจะเห็นว่านั่นคือการกระทำพื้นฐานที่เป็นหมือนกาวเชื่อมสมาชิกในสังคมให้เหนียวแน่น ต่อด้วยการเคารพกฏระเบียบ หรือกฏหมายที่หมายถึงเคารพทั้งต่อหน้าและหลับหลังก็เท่ากับสังคมนั้นจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเลย

สุดท้ายคือการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างอันเป็นปัญหาของยุคข้อมูลข่าวสารนี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นยุคที่หลากไปด้วยความรู้ ความเชื่อต่าง ๆ ที่นำมาขัดแย้งกระทบกระทั่งกันได้แม้ในหมู่คนดีด้วยกัน ดังนั้นหากมีธรรมข้อนี้ก็เท่ากับจะเป็นการหลอมรวมความต่างนั้นให้เป็นหนึ่งบนพื้นของยางเหนียวแห่งเมตตาและเอื้ออาทร

เห็นไหมครับ ทันสมัยจริง ๆ ใครจะลองนำไปสร้างเป็นวิถีในองค์กรของตนก็เหมาะสมแน่นอนเลยครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *