7 + 1 คำถามสู่การได้สินค้าที่สร้างสรรค์

โลกทุกวันนี้แข่งกันที่ความคิดสร้างสรรค์ การขายสินค้าหรือบริการจะขายได้ ขายดี มีกำไรต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่สรรค์สร้าง แต่การพูดนั้นง่ายกว่าทำ เพราะการจะคิดให้สินค้าของเรามีความแปลก แตกต่างจนได้รับความยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังสมองของมนุษย์

วันนี้เรามาพบกับเครื่องมือที่จะใช้ช่วยกระตุ้นสมองของเราให้คิดในเชิงสร้างสรรค์จน (อาจ) ได้สินค้าแห่งยุคกันนะครับ !!

เครื่องมือนี้ขื่อ SCAMPER เป็นชุดคำถาม 7 ข้อที่หากคุณตอบได้ ก็อาจได้คำตอบที่รออยู่
ทั้ง 7 คำถามมีอะไรบ้าง เดี๋ยวผมจะลองยกตัวอย่างผ่านการจำลองการคิดสินค้านวัตกรรมแห่งยุคอย่าง Smart phone ที่เปลี่ยนโลก เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของชาวโลกทั้งมวลนะครับ

โดยเหตุการณ์สมมติคือเราโยนสินค้าปัจจุบันชิ้นหนึ่งลงไปกลางวงซึ่งในตัวอย่างนี้ขอใช้เป็น “เครื่องเล่นแผ่น MP3/CD แบบพกพา” จากนั้นให้ทุกคนช่วยกันคิดตามคำถามนี้ เริ่มจาก

S ubtitute เราสามารถหาสิ่งอื่นที่ดีกว่า หรืออาจประหยัดกว่า สะดวกกว่า รักษ์โลกกว่ามาใช้ผลิตสินค้านี้แทนของเดิมได้อย่างไรบ้าง เช่นเราเอาถุงผ้ามาใช้แทนถุงพลาสติก (รักษ์โลก) เอาคอนแทคเลนส์มาใช้แทนแว่นตา (สะดวก) สำหรับกรณีนี้เราอาจตอบว่าเราเอาไฟล์ MP3 มาแทนแผ่นเพื่อให้ผู้ใช้สะดวกพกพาไม่ต้องพกแผ่นไปเปลี่ยน เอาไฟล์โหลดเข้าเครื่องไปเลย

Combine เราสามารถรวมการใช้งานอะไรอื่นอีกเข้าไปกับสินค้านี้ เช่นการรวมเตียงเข้ากับโซฟาเป็นโซฟาเบด การรวมไขควงเข้ากับที่วัดไฟเป็นไขควงวัดไฟ สำหรับกรณีนี้เราอาจตอบว่าเรารวมฟังก์ชั่นของโทรศัพท์เข้าไปกับเครื่องเล่นเพลง กลายเป็นเครื่องเล่นเพลงที่โทรศัพท์ได้

Amplify เราสามารถปรับปรุงส่วนใดส่วนหนึ่งของสินค้าหรือบริการของเราให้ดีขึ้นได้อีกบ้าง เช่นการปรับขั้นตอนการเช็คอินเป็นบริการตนเองของสายการบิน หรือโรงแรม สำหรับกรณีนี้อาจเป็นการปรับส่วนลำโพงจากหูฟังเสียบสายแกะกะมาเป็นหูฟังบลูทูธที่สะดวกกว่า

Put in other use เราสามารถนำสินค้านี้ไปใช้กับวัตถุประสงค์อื่นอะไรอีกบ้าง เช่น เราเอาโซฟาแบบเดียวกับในบ้านไปใช้เป็นที่นั่งชั้น 1 ในโรงหนัง เราเอารถยนต์ประจำบ้านไปใช้เป็นรถแท็กซีอูเบอร์สำหรับกรณีนี้อาจเป็นการเอาเครื่องเล่นเพลงเพื่อความบันเทิงไปใช้ในการบันทึกการสอนเพื่อนำกลับมาทบทวนหรือใช้บันทึกการประชุม

Eliminate เราสามารถตัดอะไรที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นออกจากสินค้าชิ้นนี้ได้บ้าง เช่น สายการบินโลว์คอส์ตตัดอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องออกเพื่อให้ราคาต่ำลง หรือการตรวจเอกสารปัจจุบันที่ตัดทะเบียนบ้านออกใช้บัตรประชาชนอย่างเดียว สำหรับกรณีนี้อาจเป็นการตัดปุ่มกดบนเครื่องออกใช้เป็นระบบทัชสกรีนแทน

Rearrange เราสามารถสลับปรับเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการอย่างไรได้บ้าง เช่น แมคโดนัลด์สลับวิถีการกินจากสั่งแล้วกินแล้วเก็บเงิน เป็นสั่งแล้วเก็บเงินแล้วถึงไปกินจนกลายเป็นต้นแบบของวิถีฟาส์ตฟู้ด หรืออิเกียที่ให้ลูกค้าไปเอาสินค้าในโกดังก่อนไปจ่ายเงิน สำหรับกรณีนี้อาจเป็นการสลับความสำคัญของการใช้งานจากการเป็นเครื่องเล่นเพลงที่โทรศัทพ์ได้กลายเป็นโทรศัพท์ที่เล่นเพลงได้

นั่นคือ 7 คำถามที่จะช่วยให้คุณคิดสร้างสรรค์สินค้าใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้ ลองนำไปใช้ดูนะครับ โดยการใช้ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามนี้ ลองไล่ถามวนไป วนมา สลับไป สลับมาเพื่อให้ได้แนวคิดสินค้าใหม่เคลื่อนตัวพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะพอใจครับ

แต่สุดท้ายผมยังมีอีกคำถามสำคัญที่อยากให้คุณถามก่อนจะถามทั้ง 7 ข้อข้างต้นนี้ คำถามนั้นก็คือ

“ปัญหาที่สินค้านี้ไปแก้ไขให้นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร”

หลายครั้งที่เราเอาแต่คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยลืมย้อนมาดูรากเหง้าถึงการมีอยู่ของสินค้านั้น จนงานที่พัฒนากลายเป็นการแปลกแต่เปลือกแต่ไม่ตอบโจทย์เพราะไม่ได้ช่วยให้ปัญหานั้นถูกแก้ไขอย่างถูกต้อง ดั่งเช่นทีแมคโดนัลด์คือการแก้ปัญหาคนต้องการเวลาเพื่อไปทำงานให้ได้มาก ๆ ในยุคทุนนิยม แอร์ เอเชียแก้ปัญหาคนต้องการเดินทางโดยไม่จำเป็นต้องสบายมากขอเพียงให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย หรือไอโฟนก็แก้ปัญหาคนต้องการการติดต่อสื่อสาร ต้องการโซเชียลเพื่อการงานและเพื่อนฝูงครอบครัว

คำถามนี้จึงสำคัญมากที่จะทำให้สินค้าที่คุณคิดได้ไม่ไปติดกับดักความแปลก ที่มีแต่ความแตกต่างแต่ไม่ได้สนองตอบต่อความค้องการที่แท้จริงของลูกค้า

ใครสนใจเนื้อหาแนวนี้คิดตามผมไลฟ์ในเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dr.veeranut ได้ในทุกวันพุธเวลา 19.30 – 20.30
สำหรับพุธที่ 17 นี้จะเป็นเรื่อง “วิธีลิขิตชะตาชีวิตตนเอง” ใครไม่อยากดูหมอต้องไม่พลาดฟังนะครับ

หรือเข้าไปเรียนคอร์สออนไลน์ของผมได้ฟรีใน https://www.kidmai.co.th/course/creative-method

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *