สอนตามสั่ง

         เรามักคุ้นกับคำว่า สั่งสอน ซึ่งหากแยกคำแล้วก็จะได้เป็นคำว่า “สั่ง” กับคำว่า “สอน”         ความหมายของทั้งสองคำนั้นคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่ รวมถึงเมื่อนำมารวมกันก็ทำให้สื่อความหมายได้ชัด ตรงไป ตรงมาดี         หรือแม้จะพลิก สลับคำจากสั่งสอนมาเป็น “สอนสั่ง” ความหมายก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิม เป็นการเล่นคำที่ช่วยให้การอ่าน หรือฟังลื่นหูขึ้น ไพเราะขึ้น         แม้โดยลึกอาจมีความยักเยื้องในระดับความเข้มระหว่างสองคำนี้อยู่บ้าง สั่งสอนเหมือนจะเข้มกว่า เป็นจริง เป็นจังมากกว่า ขณะที่สอนสั่ง ดูจะอ่อนโยน ละมุนละม่อมกว่า นี่เป็นทั้งเสน่ห์ และความสละสลวยของภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย         แต่ถ้าเติมอีกสักคำคั่นกลางตามชื่อบทล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น สอนตามสั่ง !! ความหมายยังคงตรงไป ตรงมาเช่นเคยนั่นคือ สอนไปตามที่สั่ง แต่คำถามคือ ” ใครล่ะ เป็นคนสั่ง “         โดยปกติครู หรือผู้มีหน้าที่สอนก็จะสอนไปตามที่หลักสูตรระบุ จากผู้ว่าจ้างจ้างมาสอน ก็ไม่มีอะไรผิด เป็นกลไกปกติ การศึกษาภาคบังคับครูก็สอนไปตามหลักสูตรสั่ง หรือสาวไปก็คือตามคณะผู้ทรงคุณวุฒิกำหนดไว้ให้สอนนั่นเอง         ส่วนถ้าเป็นการสอนพิเศษ สอนเฉพาะ ผู้สอนก็สอนไปตามผู้ว่าจ้าง อาจเป็นนายจ้างจ้างมาสอนวิชาเฉพาะให้ลูกน้อง พ่อแม่จ้างมาสอนวิชาเสริมให้ลูก         ไม่ว่าจะอย่างใดก็ตรงไป ตรงมา หากที่สั่งไม่เหมาะสมเรายังรู้ว่าใครสั่งและเดินเรื่องปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันสังคมเราหาได้เป็นเช่นนั้นไม่         เพราะขนาดผู้สอนยังไม่รู้เลยว่าที่สอนนั้นถูกใครสั่งมา หรือแม้แต่ผู้พิจารณาหลักสูตรเองก็อาจยังไม่รู้เหมือนกันว่าผลที่พิจารณาออกไปนั้น เบื้องหลังมาจากคำสั่งของใคร         จะว่าซับซ้อน ก็ไม่ถึงกับซับซ้อนอะไรมาก เพียงแต่เราอาจไม่คุ้นเท่านั้นเอง โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่คุ้นกับระบบทุนนิยม ที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อจะทำให้สินค้า ของตนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า         ที่เห็นชัดที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกินสิ่งที่เราถนัดที่สุด นั่นคือเรื่องของเกษตรกรรม ที่เราสอนกันตามฝรั่งสั่ง อย่างเรื่องของปุ๋ย         อย่านึกว่าเรื่องเล็กนะครับ เรื่องปุ๋ยที่ไม่น่าพิศมัยนี่แหละ ที่มีอิทธิพลไม่น้อย ก็ลองดูซิครับ คนจะอยู่ได้ด้วยอะไร ถ้าไม่ใช่อาหาร เราทุกคนต้องกินทุกวัน ตลอดชั่วชีวิต ดังนั้นภาคเกษตรจึงเป็นภาคที่มีแต่จะเติบโต เพราะต้องผลิตสินค้าออกมาป้อนให้ผู้คนมีชีวิตอยู่ได้ และภาคเกษตรก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเพาะปลูก แล้วจะทำไงดีให้ได้มีเอี่ยวกับการเพาะปลูกนี้         คำตอบคือหาสินค้าที่ทุกแปลงเกษตรจำเป็นต้องใช้ มองไป มองมาก็ไม่มีอะไรจำเป็นจริงเท่าไหร่ เพราะชาวไร่ ชาวนาเขาก็มีความรู้ในอาชีพของเขาอย่างดีอยู่แล้ว ธรรมชาติเองก็มีการเกื้อหนุนกันอย่างเป็นระบบดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเข้ามาสู่ตลาดนี้จึงจำต้องสร้างความต้องการเทียมขึ้นมา มาลงเอยที่ “ปุ๋ย” นี่ไง         ได้สินค้าแล้ว ก็มาดูวิธีการกันว่าทำอย่างไรนาทุกแปลง ไร่ทุกไร่จะต้องใช้ปุ๋ย(เคมี) แทนที่ปุ๋ย(อินทรีย์) ที่ใช้กันมาหลายชั่วอายุคน         การตลาดเรื่องหนึ่งล่ะ แต่จะให้ดีต้องสร้างให้เป็นความจำเป็นเสียเลย และจะมีอะไรดีกว่าการใส่มันลงไปในหลักสูตรเสียเลย ว่าการปลูกพืชผลต้องใช้ NPK ไนโตรเจน โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส         เพราะกี่ยุคกี่สมัยไม่มีสารพวกนี้เราก็มีพืชผลอุดมสมบูรณ์ดี แต่พอมีแล้วอาจดีแค่ช่วงต้นๆ แต่เวลาผ่านกลายเป็นเสพติด ไม่สามารถขาดได้ต้องซื้อมาเพิ่มแล้ว เพิ่มอีกอยู่ไม่รู้จักจบ ทรัพย์ในดินเลยถูกทำลายสิ้น ต้องใช้ทรัพย์บนดินคือปุ๋ยเคมีนี้จึงพอจะเกิดทรัพย์ขึ้นมาได้         เรียนไป เรียนมา เลยเชื่อกันเช่นนั้นจริงๆ ว่าหากจะทำเกษตรจะต้องใช้ปุ๋ย NPK นี้ พืชนั้นสูตรนั้น พืชนี้สูตรนี้ เป็นตำราออกมา เป็นหลักวิชามารองรับ ขณะที่ปุ๋ยแบบดั้งเดิมถูกลืมไม่พอ ยังถูกดูถูกว่าไม่สามารถทำให้พืชเจริญได้จริงอีกด้วย         ใครไปพูดเรื่องไม่ใช้ปุ๋ยเคมี มีหวังโดนโห่ว่าเพ้อเจ้อไปโน่น ทั้งที่เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนเรายังไม่รู้จักพวก N พวก K พวก P นี้เลย         นี่ละครับเราโดน(หลอก)สั่งให้สอนวิชาตามกลไกตลาดของเขา จากมีประสบการณ์อันมากมายเป็นทุน กลับทิ้งทุนนั้นหันหน้าไปสวามิภักดิ์หลักการแบบผิดฝาผิดตัวนั้นได้         ดีหน่อยที่ถึงวันนี้ กระแสเกษตรธรรมชาติเริ่มเป็นที่ยอมรับแล้ว ไม่โดนโห่เหมือนอดีตแล้ว ก็ได้แต่รณรงค์กันไป ให้เลิกสอนพื้นฐานผิดๆ อย่าง NPK นี่เสีย         แต่ก่อนมีแต่อึวัว ขี้วัว เราก็เจริญรุ่งเรืองผลผลิตมากมายมหาศาล ทั้งไม่เป็นหนี้         มาวันนี้วัวยังอึ ยังถ่ายให้เราอยู่แต่เราไปเอา K กับ N และ P เข้ามา ผลผลิตก็ไม่เห็นจะมากขึ้น แต่ที่ขึ้นแน่ๆคือหนี้ที่ต้องกู้ไปซื้อปุ๋ยเขามานี่แหละ อ้อ…แต่เดี๋ยวเกษตรกรเราก็จะมีบัตรเครดิตใช้แล้วนี่นะ กลัวอะไรกับหนี้ล่ะ จริงไหม ?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *