วงจรชีวิต

จำได้ว่าสมัยเรียนวิชาเรขาคณิตรูปทรงที่ผมไม่ชอบที่สุดก็คือรูปวงกลม เพราะโจทย์เกี่ยวกับวงกลมนี้สำหรับผมแล้วมักจะรู้สึกว่ายาก ซับซ้อนกว่าบรรดารูปเหลี่ยมพอโตขึ้นแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรขาคณิตบนกระดาษแล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าชีวิตไม่ค่อยถูกชะตากับความกลมอย่างเวลาขับรถในวงเวียนที่จะต้องใช้ความระวังมากกว่าการขับบนสาม หรือสี่ หรือแม้แต่ห้าแยกและเมื่อหันมาสนใจศึกษาธรรมะ ได้เรียนรู้วิถีแห่งกรรมแล้วก็ยิ่งรู้สึกอึดอัดกับวงกลมยิ่งขึ้นไปอีกโดยเฉพาะวงจรหรือวัฏฏะแห่งกรรมคือ กิเลส – กรรม – วิบาก

เกิดกิเลส ทำกรรม ก่อวิบาก เพื่อเป็นเชื้อมาก่อกิเลสอีก ที่หากจะขยายออกมาให้ละเอียดขึ้น ตามหลักวิชาแล้วก็คือวงจรที่เรียกว่า
ปฏิจจสมุปบาท ชื่ออาจยาว อ่านยากและจำยากไปนิดก็ไม่เป็นไรครับ เพราะความสำคัญยิ่งกว่าคือการแจกแจงจุดเชื่อมทั้ง 12 จุดที่ส่งต่อให้เกิดเป็นวงกลมนี้ว่าถูกส่งจากจุดใดไปจุดจนกลับมาครบรอบเป็นวงจร ซึ่งทั้ง 12 จุดนี้ไล่เรียงสืบต่อกันไปตามลำดับ ดังนี้

อวิชชา —> สังขาร —> วิญญาณ —> นามรูป —> สฬายตน —> ผัสสะ —> เวทนา —> ตัณหา —> อุปาทาน —> ภพ —>  ชาติ —> ชรา-มรณะ แล้ววนกลับไปเป็นเหตุให้เกิดอวิชชาอีก 

 ความรู้ชุดนี้ดีตรงที่เมื่อเราทราบรายละเอียดแล้วแบบนี้เราก็จะสามารถหาจุดที่จะตัดกระแสวงจรนี้ได้ แม้จะมีการถกถึงจุดตัดจากผู้รู้หลาย ๆ ท่านที่มีความลึก ความล้ำ สลับซับซ้อนต่างกันไปเป็นดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่าปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นของลึกซึ้ง แต่จะยุ่ง จะเหยิงเพียงใดผมก็ยังเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การนำมาพูดถึง เพราะหากใครนำไปใคร่ครวญต่อจนสามารถใช้ตัดได้จริงย่อมจะพบกับสภาพที่พ้นออกจากจากวังวนแห่งความทุกข์ อาจเพียงชั่วขณะสั้น ๆ หรือขาดแบบถาวรก็แล้วแต่ปัญญาบารมีของแต่ละท่าน แต่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำและธรรมชาติทั้งหมดด้วย

 ดังนั้นอินทาเนียฉบับนี้ผมขอนำการพ้นจากวงนี้มาพูดคุยกันนะครับ แต่ขอให้ทราบว่าจุดตัดที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้เป็นความเชื่อของผมเองอาจไม่ถูกต้องแต่ก็ขอแบ่งปันไว้เพื่อให้เพื่อนพี่น้องที่มีปัญญากว่าไปพิจารณาต่อ สำหรับความเห็นของผมเมื่อศึกษาโดยละเอียดแล้วจะพบว่าในหลายขั้นตอนนั้นแม้จะแยกออกเป็นขั้น ๆ อย่างชัดเจนแต่ก็สืบต่อกันต่อเนื่องในแทบจะทันทีจนบางช่วงหมดโอกาสที่จะตัดกระแสได้ในช่วงนั้น คล้าย ๆ กับใน อินทิเกต เซอร์กิต (IC) ไมโครโปรเซสเซอร์ที่การทำงานในแต่ละขั้นถูกรวมไว้ในชิพตัวเดียวทำให้ไม่สามารถไปตัดกระแสข้างในชิพตัวนั้นได้ หากจะตัดต้องตัดตอนจังหวะข้อมูลถูกส่งไปยังชิพตัวอื่นและสำหรับวงจรชื่อปฏิจจสมุปบาทนี้ รอยต่อที่ผมเห็นว่าเหมาะแก่การตัดก็คือช่วงที่ต่อระหว่างผัสสะกับเวทนา หรือถ้าไม่ทันก็เป็นช่วงต่อมาคือเวทนากับตัณหา ที่หากจะเปรียบด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ก็อาจอุปมาได้ว่าขั้นผัสสะไปสู่เวทนานั้นก็เหมือนดั่งช่วงระหว่าง Interface ไปถึง Switching Gate ที่หากจัดกระแสตรงนี้ได้ก็จบ  หรือหากตัดไม่ทันกระแสไปถึงแล้ว ก็ยังพอจะตัดก่อนที่ข้อมูลจากเกตนั้นจะถูกส่งต่อเข้าไปสู่ตัว CPU เพื่อเริ่มประมวลผลหรือก็คือในขั้น เวทนาไปสู่ตัณหาการแจกแจงได้เช่นนี้ทำให้เราได้เป้าหมายพื้นที่ในการดำเนินงานในการตัดวงจรนี้ทิ้ง คราวนี้ก็มาอยู่ที่วิธีการว่าเราจะตัดช่วงใด ช่วงหนึ่งนั้นได้อย่างไร คำตอบคือ หากจะตัดช่วงการรับข้อมูลไม่ให้ไปถึงสวิตช์ชิ่ง เกต หรือการตัด ช่วงผัสสะ การกระทบไม่ให้เกิดความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ก็ต้องพยายามฝึกให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “รู้ สักแต่ว่า รู้” คือให้จบอยู่ที่แค่การรับรู้ข้อมูลนั้นไม่ต้องต่อไปถึงรู้แล้วยินดี หรือรู้แล้วยินร้าย อย่างเช่นเมื่อเกิดการนำเข้าข้อมูลผ่านทางอินพุตคือตาก็ให้รู้สักแต่ว่าความหมายของสีที่ตัดกันนั้นว่าเขาสมมติว่าเป็นอะไร ไม่ต้องเดินต่อไปที่ความชอบหรือไม่ชอบในสิ่งนั้น เช่นเดียวกับชุดข้อมูลที่ป้อนเข้าทางช่องทางเชื่อมต่ออื่น ๆ ที่ก็ให้จบลงตรงการรู้ที่ไม่รักหรือเกลียดนี้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายถึงกลายเป็นท่อนไม้ หุ่นยนตร์ทำอะไรไม่ได้นะครับ กลับกันการรู้โดยไม่ชอบ ไม่ชังนี้กลับยิ่งจะทำให้เราจัดการกับสิ่งตรงหน้าได้อย่างถูกต้องเพราะไม่เจือด้วยความชอบชังนั้น ที่ภาษานักวิจัยเขาเรียกว่าจัดการโดยปราศจากอคตินั่นล่ะครับ หรือดั่งที่เกริ่นไว้คือหากตัดตรงนี้ไม่ทันหากปล่อยต่อไปก็จะเท่ากับการไปเริ่มสตาร์ตการทำงานของ CPU ที่เมื่อเริ่มแล้วก็หมดสิทธิ์เข้าไปตัดได้แต่รอ Output ส่งผล (เป็นความทุกข์) ออกมาให้ ดังนั้นหากไม่อยากให้ผลที่ไม่ต้องการปรากฏออกมาก็ต้องรีบตัดก่อนกระแสนั้นจะไปทริกเริ่มการทำงาน หรือรีบตัดก่อนที่ความรู้สึกสุขทุกข์นั้นจะทะยานไปสร้างตัณหา อยากมี (กามตัณหา) อยากเป็น (ภวตัณหา) ไม่อยากมีไม่อยากเป็น (วิภาวตัณหา) ด้วยการดึงจิตให้มารู้สึกตัวไว้ เช่นเห็นภาพผู้หญิงสวยแล้วเกิดรักก่อนที่จะทริกไปกระทำตามแรงชับของความรักใคร่นั้นก็กลับมารู้ที่เท้ากระทบพื้น ที่ตัวที่ยืนหรือนั่งอยู่ แบบนี้วงจรก็เริ่มไม่ได้ น่าอัศจรรย์นะครับ วงกลมนามธรรมอันมองไม่เห็นที่พาเราหมุนอยู่ในวังวนไม่สามารถออกไปสู่จุดหมายได้เสียที วนไปไม่รู้จบที่เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดอยู่แต่กับความทุกข์นี้มานานแสนนาน แต่ด้วยพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ท่านได้ค้นพบทางออกจากวัฏฏะนี้ ทำให้วงกลมนี้มีที่สิ้นสุดได้ ที่สำคัญที่สุดคือการตัดนี้ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งจะทำได้ ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะแต่ยอดมนุษย์หรือบุคคลพิเศษบางคน คนทุกคนที่เห็นและเข้าใจวงจรนี้ทั้งยังมีความอึดอัดกับการถูกขังอยู่ในวงจรแห่งทุกข์สามารถที่จะฝึกจนสามารถตัดวงนี้จนขาดกันได้ เลิกขับรถวนในวงเวียนมาวิ่งตรงสู่เป้าหมายกันนะครับ นี่เป็นลำดับและเป็นศัพท์ทางพระพุทธศาสนาที่อาจจะไม่คุ้นหูนายช่างอย่างพวกเรา ผมก็ขอถือโอกาสลองถ่ายทอดด้วยศัพท์เชิงเทคนิกช่างโดยเฉพาะในแวดวงของคอมพิวเตอร์ที่ผมจบมาให้อ่านดูนะครับ อาจจะไม่ตรงกับความหมายจริงมากนักแต่เผื่อพอเป็นไอเดียให้ได้จินตนาการลำดับการเดินทางของวงจร เซอร์กิตนี้ได้ครับ เริ่มจากคำแปลที่ผมขอแทนคำตามนี้ครับ

อวิชชา = ความไม่เสถียร

สังขาร = การผสมผสาน, การประกอบ

วิญญาณ = OS

นามรูป = เครื่องคอมพิวเตอร์

สฬายตน = Input Device

ผัสสะ = Interface

เวทนา = Switching Gate (True/False)

ตัณหา = การเริ่มวิ่งของไฟฟ้า

ภพ = การครบวงจรเริ่มทำงาน

ชาติ = การทำงาน

ทุกข = Output ป้อนย้อนกลับ

หรือถ้านำมาเรียงตามลำดับการสืบต่อที่เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน คือ สิ่งหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งที่ก็เป็นเหตุให้เกิดสิ่งถัดไป ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายแล้วย้อนกลับมาเป็นเหตุให้เกิดสิ่งเริ่มต้นก็สามารถเขียนได้ ดังนี้

ความหลง —> การปรุงแต่ง —> การรับรู้ —> นามกับรูป —> ช่องทางการนำเข้าข้อมูล —> ข้อมูลนำเข้า —> ความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบ —> ความอยาก(หรือไม่อยาก) —>แรงยึด —> ขอบเขต -> การดำเนินการ —> การเคลื่อนที่ไม่เสถียร —> ส่งต่อกลับไปสู่ความหลง ขึ้นวงรอบใหม่ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *