นวัตกรรมหนีน้ำ

        ปี 2554 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปจะเป็นอีกปีที่ถูกกล่าวขานถึงไปอีกนานในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรา โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติทางน้ำขึ้นมาเมื่อใดคำว่า “น้ำท่วมใหญ่ ‘54” นี้ก็จะถูกยกขึ้นมาเทียบอย่างแน่นอน         เหมือนเมื่อปีก่อนช่วงทุกคนในประเทศกำลังลุ้นระทึกกับน้ำว่าจะถึง ไม่ถึง ท่วม ไม่ท่วม เราก็จะได้ยิน ได้เห็นการดึงเอาภาพน้ำท่วมกรุงปี 2485 กับวิกฤติน้ำท่วมปี 38 ขึ้นมาสู่วงสนทนาบ่อย ๆ หรือเหมือนหากเกิดวิกฤตการณ์ในแวดวงการเงินเราก็จะพูดถึงปี ต้มยำกุ้ง 2540         แม้ภาพอันสะเทือนใจหลายภาพ หรือแม้แต่หลักฐานความเสียหายหลายชิ้นจะยังคงปรากฏอยู่แต่ผมอยากชวนคุณมามองย้อนถึงมหาอุทกภัยนั้นในอีกมุม หรือ 2 มุมที่น่ามอง ที่สวยงาม จะเรียกว่าเป็นความสวยงามท่ามกลางความสูญเสียก็พอได้         มุมแรกที่ต้องมอง และควรเก็บฝังไว้ในใจคนไทยตลอดกาลก็คือมุมของ “น้ำใจไทย” ของคนไทยทั้งชาติที่มีให้แก่กัน แม้น้ำจะท่วม สายน้ำอันเชี่ยวกรากจะหลากเข้าสร้างความเสียหายเดือดร้อนแก่พวกเราแค่ไหน แต่น้ำใจของเพื่อน ของพ่อ แม่ พี่น้อง ไปจนถึงลูกเล็กเด็กน้อยที่ออกมาช่วยกันคนละไม้ละมือ ช่วยเท่าที่พอจะช่วยได้ก็มีมากจนเหลือจะพรรณนา ทุกพื้นที่คราคร่ำไปด้วยจิตอาสาที่สละแรงกาย แรงใจ และแรงทรัพย์ตามกำลังของตนรวมไปถึงคนต่างจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม ก็มาจะร่วมแรงร่วมใจกันช่วยคนเมืองกรุงชนิดที่ผมจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่คนต่างจังหวัดช่วยคนเมืองนั้นเป็นเมื่อไหร่         ไม่ได้แยกชนชั้น แต่ทราบกันดีว่ายามปกติทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศเราจะไหลออกไปจากเมืองหลวง กรุงเทพฯ เป็นต้นทางของทุกอย่าง เป็นแหล่งรวมเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่ทองอันมั่งคั่งของชาติ แต่วิกฤติครั้งนี้ผู้ที่ปกติอยู่ในฐานะผู้รับกลับลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนที่มักอยู่ในฐานะผู้ให้กันอย่างเต็มกำลัง คนกรุงขาดน้ำก็ระดมกันส่งมาช่วย ขาดลูกบอลจุลินทรีย์บำบัดน้ำเน่าก็เร่งกันปั้นส่งมา ขาดส้วม สุขาก็มาลงแรงช่วยกันทำ ภาพเช่นนี้นึกทีไรก็ชื่นใจทุกที ชื่นใจชนิดหากตัดเรื่องความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจออกไปแล้วเชื่อว่าแทบทุกคนอยากเห็นภาพการหลอมรวมใจเหล่าอาสาสมัครเช่นนั้นอีกอย่างแน่นอน         ขณะที่อีกมุมคือในพื้นที่กทม.เองก็มีภาพที่น่าชื่นใจไม่แพ้กัน เป็นภาพที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นคนกลุ่มหนึ่ง วัยหนึ่งมารวมตัวกันช่วยพี่น้องที่ตกทุกข์ได้ยาก ใช่ครับ ผมหมายถึงกลุ่มเด็กวัยรุ่น วัยคะนองนั่นเอง         เราได้เห็นวัยรุ่นที่ปกติมักจะเฉิดฉายตามศูนย์การค้า เที่ยวเตร่เฮฮาสนุกไปเรื่อยตามวัย แต่ช่วงเวลานั้นห้างหรูชั้นนำ แหล่งรวมแฟชั่นอินเทรนด์ต่างๆ ล้วนเงียบสนิท สถานบันเทิงทั้งหลายพับ บาร์ คาราโอกเกลับเหงาสุดขั้ว เพราะวัยรุ่นเราไม่เที่ยว ไม่เฮแต่ชวนกันไปแพ็คของ ไปขนทราย ไปช่วยงานอาสาอื่นๆ ตามกำลังกันจนเนืองแน่นทุกองค์กรที่มีงานอาสาให้ทำ         สังคมสื่อสารออนไลน์ที่มักจะมีแต่เรื่องซุบซิบ วิพากษ์ วิจารณ์บันเทิง ดาราเปลี่ยนเป็นพื้นที่บอกแหล่งให้ไปร่วมทำงานบุญ งานกุศลของวัยไอทีนี้กันทุกหน้าแฟนเพจ ทุกทวิต นี่เป็นมุมแรกที่ผมอยากชวนมอง อีกมุมที่ผมอยากชวนคุณมองก็คือ “สมอง” ของคนไทย         เมื่อวิกฤติมาเยือนเราไม่สามารถพึ่งพาคนอื่นได้ ไม่สามารถเอ้อระเหยลอยไปวัน ๆ ได้ เราจำต้องเค้น คิด งัดวิชาต่าง ๆ ในตัวเราเองมาช่วยตัวเอง เมื่อนั้นคือเวลาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสมองคนไทยไม่ด้อยกว่าชาวโลกอย่างที่เราเชื่อและมั่นใจมาตลอดจริง ๆ         ไม่เพียงแค่เอาตัวรอดเรายังสามารถพลิกแพลง ประยุกต์ พัฒนาก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ สิ่งประดิษฐ์ชั้นยอดออกมาแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ ถึงขนาดนำไปจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรนี้ได้หลายสิบรายการ ที่หลายรายการเห็นแล้วก็มั่นใจได้เลยว่าหากพัฒนาต่ออีกระยะอาจกลายเป็นสินค้าที่ทั่วโลกตะลึงเลยก็ได้         หรือแม้แต่ชาวบ้านทั่วไป หรือผู้ประสบภัยนั้น แม้ไม่ได้ไปจดสิทธิบัตรไว้ แต่จากวิกฤติเราถูกบังคับให้คิดหาวิธีต้องเอาตัวรอดจากน้ำให้ได้ในทุกเรื่องของชีวิต ตั้งแต่เรื่องการกิน การถนอมอาหาร การปรุง บรรจุภัณฑ์ การนอน การเดินทาง การแต่งกาย การป้องกันความเสียหายของทรัพย์สิน การเดินทาง การสื่อสาร ฯลฯ         ทำให้ต้องคิดดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่มาใช้ซึ่งผลออกมาคืออย่างที่เราเห็นในภาพข่าวว่าเราทำกันได้ดีมากๆ ความคิดสร้างสรรค์ของเราแหวกทะลุข้อจำกัดในหลาย ๆ อย่างไปได้อย่างน่าทึ่ง         ไม่รวมถึงการสร้างนิสัยรักการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เราได้แต่ใช้ไม่สนใจว่ามันทำงานอย่างไร กลายเป็นเราต้องรู้แต่ละเรื่องลึกขึ้นเพื่อจะได้ประยุกต์ได้ถูก จากที่เอาแต่บริโภค หรือจะเรียกว่าดีแต่กินก็ได้ เป็นเราต้องรู้วิธีปรุง วิธีเก็บถนอมให้อยู่นาน ลึกไปถึงรู้ที่มา ที่ไป เหตุและผลของสิ่งต่าง ๆ ด้วย นั่นเป็น 2 มุมดี ๆ ที่อยากฝังไว้ให้ตราตรึงอยู่ในใจ แต่ยังมีอีกมุมที่แม้ยังไม่ชัด แต่เริ่มฉายแววให้เห็นอยู่บ้าง และผมถือว่านั่นเป็น “นวัตกรรม” ที่น่ายกย่องจริงๆ         ไม่ใช่สิทธิบัตรสู้ภัยน้ำต่าง ๆ ที่ออกมา และไม่ใช่ความคิดแหวกแนวที่ชวนประทับใจครับ แต่เป็นนวัตกรรมทางความคิด ที่ “คิดใหม่” อย่างแท้จริง         นั่นคือความคิดที่จะ “ยอมรับ” ธรรมชาติ ยอมเริ่มที่คิดจะใช้ชีวิต “สอดคล้อง” ไปกับธรรมชาติ ไม่คิดจะไปฝืน ไปเอาชนะธรรมชาติอย่างเขลาอีก         จากเดิมที่เราชื่อกันเหลือเกินว่าเราสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แม้ไม่ถึงขั้นเรียกลม หยุดฝน ห้ามอาทิตย์ขึ้น ห้ามจันทร์ตกได้ แต่มนุษย์ก็มั่นใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นการ “เอาเปรียบ” ธรรมชาติ เบียดเบียนเล็กน้อยธรรมชาติเขาตอบโต้มาเบา ๆ เราเอาตัวรอดกันได้ไม่ลำบากมนุษย์ก็เหิมเกริมรุกล้ำ ย่ำยี ตักตวงเอากับธรรมชาติมากขึ้น ธรรมชาติก็โต้ตอบกลับมาหนักขึ้นแต่เราก็ยังคงไม่เข็ด ไม่สำนึกยังเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากพอที่จะเบียดเบียนธรรมชาติอย่างหนักขึ้นต่อเนื่องต่อไป จนเมื่อธรรมชาติเขาเอาคืนแบบทบต้นและดอกเราถึงพอจะตาสว่าง ยอมหยุดและตรองถึงวิถีที่ควรกันบ้าง         หลังผ่านมหาอุทกภัยนี้พอเห็นแนวโน้มแล้วว่ามนุษย์ชาติ อย่างน้อยก็คนไทยเราเริ่มที่จะคลอนแคลนกับความสามารถของเราเอง และหันมาเกรงกลัว เคารพความเป็นธรรมมากขึ้น         นี่แหละครับคือนวัตกรรมสำคัญที่สุดในมุมมองของผม ที่หากนวัตกรรมทางความคิดนี้นี้ถูกทำให้ชัดขึ้น ถูกจุดประกาย ถูกกระตุ้นจนแพร่กระจายไปในวงกว้าง ทั่วทุกระแหง ทุกพื้นที่ของประเทศ เมื่อนั้นจะเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการเติบใหญ่ของเราอย่างแท้จริง และยั่งยืน         “กล้า” ที่จะคิดใหม่ และ “กล้า” ที่จะทำใหม่ ด้วยการย้อนไปดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เมื่อนั้นประเทศเราคงเต็มไปด้วยความสุขอย่างยิ่ง และจะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เราไม่ต้องกลัวน้ำอีกต่อไปครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *