ความกล้า VS ความกลัว

ประเด็นร้อนที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์เกี่ยวกับคณะสีเลือดหมูของเราเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเห็นจะไม่มีเรื่องใดเกินเหตุการณ์การวิวาทระหว่างนายช่างที่สื่อเรียกในโปรยหัวข่าวว่า “ลุงวิศวะ” กับกลุ่มนักเรียนมัธยมบนถนนสายท่องเที่ยว จนเลยเถิดไปถึงความสูญเสียชีวิตที่มหาชนสนใจเพราะนอกจากจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนแล้ว ยังมีคลิปเหตุการณ์ที่ทะยอยหลุดออกมาให้วิพากษ์กันได้ในหลากมุมมอง ส่วนใครจะถูก ใครจะผิดในแง่ของกฎหมายแล้วก็คงต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไป เช่นเดียวกับในแง่กฎแห่งกรรมก็ย่อมต้องปล่อยให้กรรมดำเนินไปตามครรลอง แต่จากเหตุการณ์นี้กอยากชวนคิดต่อในอีกบางมุมเพื่อให้ได้แนวทางตัดสินใจที่จะไม่นำไปสู่ความสูญเสียเช่นนี้อีกโดยอยากชวนมองในหมวกของวิศวกรว่าการเลือก “การกระทำ” ใดในชีวิตนั้นก็เป็นดั่งช่างเลือก “เครื่องมือ” มาใช้ในงาน หากเลือกเครื่องมือได้เหมาะสมงานก็จะสำเร็จลุล่วงได้อย่างง่ายดาย แต่หากเลือกเครื่องมือผิดไม่เพียงงานจะไม่สำเร็จแต่คนใช้เครื่องมือนั้นยังอาจได้รับบาดเจ็บเอาด้วย

จะตอกตะปูหากเลือกค้อนมาใช้ ตอกไป 3 – 4 ทีตะปูก็ยึดไม้ได้ แต่ถ้าไปเลือกไขควงมาใช้นอกจากตะปูไม่เจาะเนื้อไม้แล้วมือคนตอกเองอาจโดนเจาะพังเอาด้วย
เหตุการณ์หรือปัญหาที่เข้ามาให้เราแก้ไขในชีวิตก็เช่นกันที่เราต้องเลือกเครื่องมือให้ถูกเพื่อให้ได้ผลออกมาตามต้องการ โดยเครื่องมือหลัก ๆ ในชีวิตนั้นทั่วไปจะมีให้เลือกใช้อยู่ 2 ชิ้นคือ
1. ความกลัว
2. ความกล้า

ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวนี้เครื่องมือชิ้นที่ควรเลือกใช้คือข้อ 1 “ความกลัว”

ทั้งนี้มิได้หมายถึงให้ลุงวิศวะกลัวกลุ่มเด็กจนหงอ หรือให้กลุ่มเด็กกลัวรุ่นเก๋าจนขยาด แต่ทั้ง 2 ฝ่ายรวมถึงใครก็ตามที่ประสบเหตุการณ์ทำนองเดียวกันควรจะ “กลัวที่จะมีปัญหา” “กลัวที่จะมีเรื่อง” หรือจะให้ดีที่สุดก็คือควร “กลัวความโกรธในใจตัว” หากทั้ง 2 ฝ่ายเลือกเครื่องมือที่ถูกต้องชิ้นนี้มาใช้นายช่างของเราก็คงได้พาครอบครัวกลับบ้านอย่างมีความสุข พร้อม ๆ กับเด็กมัธยมก็ได้ไปเที่ยวกับเพื่อนอย่างสนุก

แต่..เพราะเลือกเครื่องมือผิด เลือกที่จะใช้ “ความกล้า” (ในเรื่องที่ควรกลัว) เหตุการณ์จึงเลยเถิดดั่งที่เป็นข่าว ที่สำคัญคือนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายพัน หรือหลายหมื่นความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสังคมที่มาจากการเลือกใช้ความกล้าที่ผิดนี้ จนน่าสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบที่อาจทำให้แปลกใจก็คือคนไม่รู้ว่าเรื่องไหนควรกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาเด็กและเยาวชนของเราที่จำนวนมากที่ไม่เพียงไปกล้าในเรื่องที่ควรกลัว กลับยังเห็นว่าเป็นสิ่งเท่ห์ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นลูกผู้ชาย ไปเข้าใจผิดว่าความกลัวที่จะมีเรื่องนั้นเป็นความขี้ขลาดตาขาวทั้งที่จริงการไม่อยากมีเรื่อง (ที่ไม่เป็นเรื่อง) นั้นแท้จริงกลับเป็นคุณสมบัติของผู้กล้าด้วยซ้ำ

ซึ่งทางแก้ก็ต้องสร้างค่านิยม “อภัยคือผู้กล้า” ให้แก่เด็ก ต้องสร้างไอดอลให้เด็ก ๆ เห็นว่าพระเอกคือคนที่ชนะความโกรธของตัวเอง ไม่ใช่เอาความโกรธของตนไปชนะคนอื่น ตัวละคร ซุปเปอร์ฮีโรสายพันธ์ใหม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง ว่าความอดทน อดกลั้น การเดินหนีไปจากสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อภยันตรายเป็นการกระทำที่น่าทำ ขณะที่การใช้ความรุนแรง ตะบี้ตะบันแสดงความเหิมเกริม ผยองพองตัวนั้นเป็นบุคลิกของผู้ร้าย

หรือจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็ควรสอนให้เขาสังเกตุใจที่ร้อนรนสุมเป็นกองไฟพยาบาท อาฆาตนั้น แล้วให้เขานำมาเทียบกับใจตอนรื่นเริง มีความสุขดูว่าต่างกันลิบลับขนาดไหน สอนให้เขาดูบ่อย ๆ ในที่สุดเขาจะเรียนรู้ด้วยตนเองว่าใจอย่างไหนที่น่าเอาแล้วต่อไปเขาย่อมอยากทำใจแบบนั้นให้เกิดขึ้นได้เอง แม้การแก้แบบนี้อาจใช้เวลานานแต่เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่มีค่านิยมที่ถูกต้องนี้เติบใหญ่ขึ้นเมื่อนั้นสังคมจะเต็มไปด้วยความอบอุ่นน่าอยู่

แต่ “ความกล้าในสิ่งที่ควรกลัว” นี้เป็นเพียงแค่ครึ่งเดียว ยังมีอีกครึ่งที่ผิดมาก และนำสังคมไปสู่ความเสื่อมมากไม่แพ้กัน นั่นคือการใช้

“ความกลัวในสิ่งที่ควรกล้า” โดยเฉพาะกับ “ความกลัวที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง (ของสังคม)” ที่คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะดูดายด้วยกลัวตัวเองจะเดือดร้อนจากการเรียกร้องที่ตนไม่ได้รับผลนั้น

คนจำนวนมากรู้ถูก รู้ผิดแต่คนเกือบทั้งหมดนั้นก็จงใจที่จะปล่อยปะละเลยด้วยคิดว่าธุระไม่ใช่ เราไม่มีอำนาจพอจัดการได้ หรือเรียกร้องไปก็คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไร สารพัดข้ออ้างนี่มาจากการเลือกใช้เครื่องมือคือความกลัวนี่เอง คือกลัวจะลำบาก หรือกลัวปัญหาที่จะตามมา

การเลือกใช้เครื่องมือชิ้นนี้ผิดจึงระบาดไปทั่วแม้ขนาดในแวดวงธรรมะเองก็หาคนกล้าลุกขึ้นมาสู่กับความไม่ถูกต้องทางธรรมได้น้อยเต็มทนจนเกิดเป็นวลีติดหู “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์”

กลับมาที่คำถามเดิมคือ “แล้วจะแก้อย่างไร ?”

คำตอบก็ต้องให้ความรู้ คนต้องรู้ให้กระจ่างชัดจนแยกแยะได้ว่าเรื่องใดถูก เรื่องใดผิด และเมื่อรู้ชัดแล้วก็ต้องให้เข้าใจอีกว่าทุกคนย่อมต้องมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหานั้นมิใช่ดูดาย ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกันคือต้องไม่ไปคิดว่าการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องของความรุนแรงทั้งที่ในความเป็นจริงเราสามารถสู้อย่างเต็มกำลังได้บนความสงบได้

ลองย้อนนึกถึงมหาบุรุษผู้ที่ขึ้นชื่อว่ามีความสงบสูงที่สุดแล้วอย่างพระพุทธเจ้าก็ได้ว่าท่านมิเคยดูดายในความไม่ถูกต้อง ท่านยังเคยตรัสไว้ว่า “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” หรือ “ข่มคนที่ควรข่ม สรรเสริญคนที่ควรสรรญเสริญ” มิใช่ใครไม่ดีก็ปล่อยให้เขาเหลิงในอำนาจแห่งความไม่ดีนั้น

นี่ล่ะครับ เครื่องมือ 2 ชิ้นที่ใช้กันผิดฝา ผิดตัวจนสังคมเหลวแหลกไปหมด

ได้แต่นึกหวังไว้ว่าหากวันใดเราใช้เครื่องมือทั้ง 2 ชิ้นนี้ได้ถูกคือ “กลัวในสิ่งที่ควรกลัว” และ “กล้าในสิ่งที่ควรกล้า” ได้แล้วประเทศของเราคงเจริญไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้อย่างแน่นอนครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *