จอมบงการ

นิตยสาร Happy+ Jan 2018

โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเป็นอย่างยิ่ง สิ่งต่างๆที่เพียรก่อร่างพัฒนามาก็อาจกลายเป็นความสูญเปล่าไปเพียงช่วงเวลาแค่ข้ามคืน จนในระยะหลังจำเป็นต้องมีคำคุณศัพท์ขยายเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคำที่เราคุ้นหูกันดีนั่นคือคำว่า “ความยั่งยืน” ที่มักใช้ร่วมกับคำว่า “พัฒนา” จนกลายเป็นโจทย์ในหลายเวทีว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการ “พัฒนาอย่างยั่งยืน” และในโอกาสที่ผมได้ไปร่วมในเวทีสัมมนาวิชาการของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหัวข้อ “การสร้างนวัตกรรมสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาชุมชนสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาเช่นเดียวกับธีมของ Happy+ ฉบับนี้ที่เป็นฉบับรับวันครูนั้นผมก็ขอนำสิ่งที่บรรยายบนเวทีนั้นมาขยายความต่อให้ผู้อ่านได้ลองพิจารณากันนะครับ โดยผมเริ่มจากการมองคำว่ายั่งยืนนี้ในอีกมุม คือมองในมุมว่าแล้วสิ่งใดที่ทำให้สังคมนั้น “ไม่ยั่งยืน” ซึ่งเมื่อตีโจทย์ในมุมนี้ก็จะได้คำตอบว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนขึ้นก็คือการถูกรุกรานจากภายนอกด้วยหวังผลประโยชน์จากทรัพยากรหรือหวังจะครอบงำระบบตลาด ซึ่งการจะป้องกันได้ก็ต้องรู้เสียก่อนว่าเขาจะใช้อาวุธอะไรในการยึดครองนี้เพื่อที่จะได้เตรียมรับมือหรือตอบโต้กลับได้ถูก แต่แน่นอนว่าอาวุธยุคนี้ไม่ได้เป็นอาวุธโดยสภาพที่เห็นได้ชัดแบบปืน ผา หน้าไม้ หรือรถถัง เครื่องบินรบให้คนถูกรุกได้ตั้งรับกันง่าย ๆ แต่อาวุธที่มนุษย์ใช้ยึดครองกันนั้นแปรสภาพเนียนขึ้นจนคนตั้งรับพลิกตำราไม่ทัน ที่พอจะเห็นภาพไม่ยากก็เช่นอาวุธในยุคทุนนิยมที่แปรจากอาวุธสงครามมาสู่เงินทุน ใครมีทุนหนาก็ยึดคนทุนน้อยได้ไม่ต่างจากใครมีกองพลใหญ่ไล่ขยี้กองร้อยจิ๋ว ดั่งคำทีว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เงินทุนว่าเริ่มเนียนแล้ว อาวุธในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารนั้นกลับยิ่งเนียนกว่า เพราะแปรต่อไปอีกขั้นที่มีความซ่อนรูปมากก็คือเป็น “ความรู้” หรือ “ค่านิยม” โดยค่านิยมนี้เมื่อมาผนวกเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากสังคมอุตสาหกรรมมาสู่สังคมโซเขียลที่คนสื่อสารกันด้วยสัญลักษณ์ ดั่งที่เรียกว่าสังคมเชิงสัญลักษณ์แล้วมาแปรรูปให้สัมผัสได้ง่ายขึ้นจึงเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “วาทกรรม” หรือผลึกความรู้ที่จะส่งทั้งความจริง ความรู้ และกรอบความคิดที่ต้องการออกไปสู่ผู้รับสาร วาทกรรมนี้เป็นเสมือนเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้ปกครองคนในยุคข้อมูลข่าวสารนี้ เป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพยิ่งกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ใด ๆ ที่มนุษย์เคยผลิตออกมา เพราะวาทกรรมนี้ผู้โดนอาวุธจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนโดนปกครองอยู่ นี่ไม่ใช่การล้อกันเล่นแต่เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ที่คนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นทาส กำลังถูกบงการให้ไปแสวงหา หรือใช้ชีวิตตามที่ผู้ชักใยที่อยู่เบื้องหลังต้องการ ทั้งยังนึกว่าตนมีอิสระในชีวิตสามารถเลือกใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง ทำให้นอกจากจะไม่คิดลุกขึ้นมาต่อสู้แล้วยังมีแต่จะยิ่งยอมตัวเป็นทาสกันมากขึ้นเพราะนึกว่าตนเป็นไทอย่างยิ่งอยู่ การแก้มีแต่การหมั่นสำรวจความจริงด้วยตัวเองเท่านั้นที่จะทำให้ทาสสังเกตโซ่ตรวนที่พันธการอยู่นี้ออก และเมื่อเห็นแล้วว่าตนถูกตรวนอยู่นั่นแหละถึงจะเกิดขั้นตอนการดิ้นรนไปสู่ความอิสระอย่างแท้จริง ครูที่เป็นเลิศจึงต้องสามารถสร้างสิ่งนี้ให้แก่ศิษย์ได้ ทำให้ศิษย์สามารถเห็นจอมบงการผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังได้ ดั่งคำที่พระพุทธเจ้าตรัสในวันที่พระองค์ตรัสรู้ว่า “เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก ความเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์, แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่านแล้ว, ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้, ซี่โครงทุกซี่ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว, จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว, เพราะเราบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว” ฉะนั้นความรู้ที่เราควรได้จากการเรียนก็คือความรู้ในการหาจอมบงการนี้ให้เจอครับ ไม่ทราบมีใครเห็นจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของตัวเองกันหรือยังครับ !

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *