ราชาธรรม

นิตยสาร Happy+ Dec 2017

คนอยากทำดีนั้นมีมาก แต่คนที่ทำดีนั้นเหลือไม่มาก วลีนี้มิใช่ของผู้รู้ใด แต่เป็นผมที่ว่าเอาไว้เองจากประสบการณ์การทำงานด้านสาธารณประโยชน์มาระยะหนึ่ง ทำให้แม้จะชื่นใจกับสังคมไทยที่มีผู้อยากอุทิศตนทำความดีเพื่อคนอื่นมากมายจริง ๆ แต่ในเวลาถัดมาไม่นานก็เกิดบทสรุปที่เป็นวลีหลังคือคนทำดีนั้นเหลือไม่มาก จนรู้สึกเศร้าใจว่าทำไมความอยากทำดีของคนจำนวนมากถึงได้มอดลงเร็วเหลือเกิน สุดท้ายก็มาได้คำตอบว่าด้วยเพราะสังคมเรากันเองนั้นเองที่ผลักคนใจดีออกจากวิถีแห่งการทำดีนี้ ผลักด้วยความคิดระแวง การพูดดูแคลน การนินทากล่าวร้ายว่าคนทำมีเบื้องหลัง คนทำ ทำเอาหน้า คนทำ ทำหวังประโยชน์ ไปจนถึงการอาศัยความใจดีนั้นย้อนกลับมาเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ทำความดี การคิด การพูด การกระทำอันทำร้ายจิตใจคนทำดีเช่นนี้นี่เองทำให้หลายคนจึงเลิกเอามือซุกหีบ เลิกเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่งยังเอากระดูกมาแขวนคอ ขอกลับไปใช้ชีวิตของตนสงบ ๆ ดีกว่า แต่ขณะเดียวกันก็น่าสนใจว่าในกลุ่มคนคิดดีที่ยังคงทำดีได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นคนหมู่น้อยนั้น อะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขายังรักษาปณิธานไว้ได้ ซึ่งคำตอบก็เพราะพวกเขามี “แรงบันดาลใจ” ที่ทรงพลังมากนั่นเอง โดยเฉพาะแรงบันดาลใจที่เกิดจากการได้เห็นการทรงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เป็นแรงขับเคลื่อนชั้นเลิศที่รักษาปณิธานของพวกเขาไว้ได้ คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกร่วมกันอยู่สิ่ง คือยามที่ได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านแล้วพวกเขาจะเกิดความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะทำเพื่อสังคมให้ได้เศษเสี้ยวของพระองค์ ทั้งยังจะรู้สึกอยากตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่านด้วยการเดินตามรอยพระบาทมิใช่เพียงปากพร่ำพูด ที่สำคัญคือพวกเขาได้เข้าใจถึงความเป็นบรมครูของพระองค์ท่าน ที่ทรงพระอัจฉริยะในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ทั้ง 3 ระดับตั้งแต่ขั้น “สอนให้รู้” ที่พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทให้เข้าใจ ให้มีความรู้แท้ในทุกเรื่องจนสามารถนำความรู้นั้นมาแก้ไขปัญหาได้ ต่อมาถึงขั้น “ทำให้ดู” ที่พระองค์ทรงพระราขกรณียกิจเป็นแบบอย่างให้เห็นมาตลอดรัชสมัย จนสามารถนำแนวทางโครงการพระราชดำริมาเป็นต้นแบบได้ และขั้นสูงสุดคือ “อยู่ให้เห็น” ที่พระองค์ทรงแสดงพระจริยวัตรอันงดงามยิ่งให้พวกเราดูเป็นแบบอย่าง จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะรักษาวิถีแห่งความดีนี้ไว้ได้ ในวาระเดือนแห่งพ่อนี้จึงขอนำหลักธรรมที่พระองค์ทรงใช้มาตลอด 70 ปีแห่งการทรงงานที่เราควรน้อมนำมาประยุกต์ใช้กับตนมาเสนอให้ได้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์ท่านกัน นั่นคือหลักวิถีแห่งทศพิธราชธรรม ที่แม้ชื่อจะหมายถึงธรรม 10 ประการของพระราชา หรือผู้ปกครอง แต่ก็มิได้มีข้อจำกัดใดที่ประชาชนจะนำมาฝึกฝนให้เกิดในตนเองไม่ได้ ทั้งยังเป็นการสมควรด้วยเพื่อที่ต่อไปธรรมนั้นจะได้ตกผลึกในตัวบุคคลนั้นก่อเกิดผลผลิตออกมาเป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าแก่สังคม ซึ่งหลักทศพิธราชธรรม 10 ประการนั้นประกอบด้วย 1. ทานํ คือ การให้ การสละสิ่งของตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น 2. สีลํ คือ การมีศีล การไม่เบียดเบียนผู้อื่น 3. บริจาคํ คือ การบริจาค สละความสุขส่วนตนเพื่อผู้อื่น 4. อาชฺชวํ คือ ความซื่อตรง ความสุจริตต่อหน้าที่ทั้งหน้าที่การงานและหน้าที่ต่อสังคม 5. มทฺทวํ คือ ความอ่อนโยน ความอ่อนน้อมถ่อมตน 6. ตปํ คือ ความเพียร ความขยันขันแข็ง 7. อกฺโกธํ คือ ความไม่โกรธ ไม่แสดงความโกรธ 8. อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนตนเอง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ด้วยความเป็นกลาง 9. ขนฺติ คือ ความอดทน ความอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้องประสบ 10. อวิโรธนํ คือ ความเที่ยงธรรม ความหนักแน่น ยึดธรรมเป็นใหญ่ ส่งท้ายนี้หากระลึกถึงพระองค์ท่านก็ควรมองไปที่ “รูปที่มีทุกบ้าน” แล้วให้เกิดแรงบันดาลใจอยากจะศึกษาสิ่งที่พ่อสอน ทำตามสิ่งที่พ่อทำ และพยายามอยู่ด้วยธรรมของพ่อ เช่นนี้ถึงจะถือว่าได้แสดงกตัญญูจริงครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *