จงกรมไม่เป็นลม

        สมัยนี้เขานิยมคำว่า “บูรณาการ”         อะไร ๆ ก็ต้องมีการบูรณาการไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน การแก้ปัญหาต่าง ๆ การดูแลสุขภาพ ไปจนกระทั่งแม้แต่เรื่องของการท่องเที่ยว พักผ่อนยังต้องเที่ยวอย่างบูรณาการกัน         ซึ่งหากเจาะดูในส่วนของบูรณาการในการดูแลสุขภาพนั้นย่อมไม่ได้หมายเอาเรื่องการบูรณาการสารพัดยา จนกลายเป็น ยาวิเศษแก้สารพัดโรคเหมือนที่เราได้ยินโฆษณายาวิเศษตามสื่อที่เป็นภาระให้อย.แต่อย่างใด แต่หมายถึงการดูแลรวบยอดทั้งเรื่องของ “กาย” และเรื่องของ “จิต” อันเป็น 2 ส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต         ก็ทำอย่างไรได้ในเมื่อชีวิตเมืองในสมัยวัตถุ(กิเลส)นิยมครอบงำนี้เวลาส่วนใหญ่ต้องใช้ไปกับการงานทางโลก การงานที่หาเงิน หาทองมาเลี้ยงชีพ เวลาที่เหลือเพียงเล็กน้อยจะให้มาแยกไปดูแลกายครั้ง ดูแลใจครั้ง ก็คงไม่พอ ผู้สนใจรักษาสุขภาพแบบองค์รวมจึงต้องบูรณาการหาทางที่ได้ทั้งสองส่วนในเวลาเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีนิยมกันอยู่หลายกิจกรรม อย่างกีฬาที่เชื่อว่าได้ทั้งความแข็งแรงทางกาย และความสงบทางจิตเช่น โยคะ มวยจีน ไทเก็ก ฯลฯ ก็เป็นที่ In trend ในสังคม Hi speed จนผู้ประกอบการสถานออกกำลังเช่นนี้ร่ำรวยกันถ้วนหน้า ในฐานะที่บริการสิ่งที่เอื้อประโยชน์อย่างครบถ้วน เหมาะกับทุกเพศทุกวัย สนองความต้องการและข้อจำกัดของลูกค้าได้ ทำให้สามารถคิดราคาค่าบริการได้สูงเอาการ         แต่ผมอยากจะบอกว่าการบูรณาการด้านสุขภาพเช่นนี้เรามีมาเนิ่นนานหลายพันปีแล้ว แถมดีกว่าตรงไม่ต้องเสียเงิน เสียทองมากมายเพื่อจ้างครูผู้ชำนาญการด้านนั้น ๆ มาสอนด้วย กิจกรรมนั้นเราคุ้นหูกันดีครับ เดินจงกรม ! เราได้ยินกันบ่อย ๆ แต่ทราบความหมายแท้ ๆ กันบ้างไหมครับ ? บางคนนึกไปถึงภาพเดินเป็นวงกลมแบบการเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ บางคนนึกไปถึงการเดินแบบช้า ๆ เนิบ ๆ มีการซอยจังหวะยิบย่อยกันไป         ก็ไม่ผิดในรูปแบบครับ เพราะความจริงจะเรียกว่าเดินจงกรมหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอกแต่ขึ้นอยู่กับการวางจิตใจภายใน เดินให้มีสติรู้สึกตัว เท่านี้ก็เรียกว่าเดินจงกรมแล้ว พระพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ของการเดินจงกรมไว้ 5 ประการ ดังปรากฏในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ไว้ว่า 1. ทำให้เป็นผู้เดินทางไกลได้ทน 2. ทำให้เป็นผู้ทำความเพียรได้ทน 3. ทำให้เป็นผู้มีความไข้เจ็บน้อย 4. ทำให้อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ย่อยได้ดี 5. สมาธิที่บรรลุในขณะเดินจงกรมตั้งแน่วแน่อยู่ได้นาน         ฉะนั้นใครที่เดินออกกำลังยามเช้าได้รับประโยชน์ทางกายทั้งเรื่องของการช่วยย่อย ท้องไม่ผูก สุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว บูรณาการด้วยการเติมสติลงไป เติมความรู้ตัวที่เดิน รู้เท้าที่กระทบพื้นเข้าไปเท่านี้ก็คือการเดินจงกรมแล้ว ประโยชน์ทางกายทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว ฉะนั้นเรามาดูประโยชน์ทางจิตกัน         เมื่อเราเดินธรรมดาเรามักจะคิดฟุ้งซ่าน คิดโหยหาไปในอดีตที่ผ่านไปแล้วบ้าง คิดห่วง กังวลไปยังอนาคตที่ยังมาไม่ถึงบ้าง การคิดลักษณะนี้นอกจากไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับการทำงานแล้วยังเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานของจิตที่นำมาคิด แต่เมื่อเราเดินจงกรม เมื่อไหร่ที่เดินแล้วเราคิด พอรู้ว่าคิดโดยไม่ต้องสนใจว่าคิดเรื่องอะไร เราก็ดึงจิตกลับมาให้รู้สึกอยู่กับร่างกายที่เคลื่อนไหว หรือรู้ที่เท้าที่กระทบพื้น หรือเมื่อไหร่ที่เราเดิน เมื่อไหร่ที่น้ำหนักเท้ากระทบไปบนพื้นจากน้ำหนักตวของราแต่เรากลับไม่มีความรู้สึก นั่นก็แปลว่าเรากำลังคิด กำลังเหม่อลอย กำลังขาดสติ เราก็เพียงจงใจเติมความรู้สึกตัวลงไป ตั้งใจที่จะรู้การกระทบของเท้ากับพื้นที่เกิดขึ้นนั้น ความรู้สึกตัวนั่นเองที่จะเบียดบังความคิดออกไปจากจิต แม้อาจได้เพียงครู่เดียวเดี๋ยวจิตก็เผลอไปคิดเรื่องใหม่อีก เราก็ทำเช่นเดิมคือดึงจิตกลับมาที่ความรู้สึกตัวอีก ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวความรู้สึกตัวนี้จะค่อยถ่างออกเบียดความคิดให้ลงคลอง ถอยร่นออกไป         เมื่อจิตปราศจากความคิดไปข้างหน้า คิดย้อนไปข้างหลังรู้อยู่กับปัจจุบันคือเท้าที่กระทบพื้นอย่างต่อเนื่องสักพัก สิ่งที่ตามมาโดยอัตโนมัติก็คือความตั้งมั่นของจิตหรือที่เราเรียกว่า “สมาธิ” นั่นเอง และด้วยการเดินนั้นเราเรียกว่าเป็นอิริยาบถใหญ่ น้ำหนักของเท้าที่กระทบพื้นนั้นก็มีแรงมาก รับรู้ได้ง่าย สามารถตัดกระแสความคิดกลับมารู้ที่ร่างกายได้ง่ายทำให้จิตมีพลังได้มาก ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในประโยชน์ข้อที่ 5 ว่าสมาธิที่เกิดจากการเดินจงกรมนั้นตั้งมั่นได้นาน         ซึ่งเมื่อจิตมีพลัง การนำไปใช้ก็จะยิ่งส่งผลมหาศาล สามารถใช้ในการก่อให้เกิดปัญญาได้อย่างถูกต้อง นำมาซึ่งการตัดสินเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างเหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ก่อโทษภัยตามหลังมา เพราะปัญญา ความรู้ที่ได้มาจากฐานของจิตที่มีพลัง ตั้งมั่น ปลอดโปร่ง โล่งจากอคติทั้งหลายทั้งปวงที่มักกลุ้มรุมจิตอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความรู้นั้นเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ภาษานักวิจัยเขาเรียกว่าไม่มีไบแอส สามารถนำไปใช้ได้จริง ต่างจากความรู้ที่ “คิด ๆ เอา” ที่มักจะเป็นความรู้เฉโก ความรู้แบบฉาบฉวย หรือเจ้าเล่ห์ ซึ่งมักจะนำผลร้ายย้อนกลับมาสู่ผู้ใช้         เห็นไหมครับ เดินจงกรมนี่บูรณาการขนานแท้เลย ไม่ว่าจะเรื่องกาย เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา อีกทั้งสะดวก ปลอดภัย ไม่ยุ่งยากต่อการทำ คุณค่ามากมายขนาดนี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสบอกอานิสงส์ไว้ให้แล้ว ไม่สนใจจะลองนำไปใช้ดูบ้างหรือครับ ไม่ต้องไปเสียเงินค่าเข้ายิม ฟิตเนส คลาสโยคะ แถมยังเหมือนได้พาจิตไปพักผ่อนวิปัสสนากันตามวัดอีกด้วย ไม่ลองไม่ได้แล้วละครับ !

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *