White lie

        แวดวงการเมืองมักสร้างคำอมตะขึ้นให้กับสังคมเสมอ         บางคำเป็นคำพื้นฐานที่คุ้น ๆ กันแต่พอนำมาควบรวมกันก็สามารถสื่อเหตุการณ์เฉพาะนั้นได้โดนจนแพร่กระจายถูกนำไปใช้ในแวดวงอื่น ๆ ด้วยอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีคำอย่าง “กระชับพื้นที่” ที่ใช้เป็นคำทางการช่วงการชุมชนทางการเมืองแต่ภายหลังถูกนำมาในเรื่องอื่น ๆ แม้กระทั่งเรื่องตลก เบา ๆ เรียกว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง         หรือย้อนไปอีกหน่อยก็อย่างคำว่า “บกพร่องโดยสุจริต” กับ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ก็นิยมใช้กันอยู่พักจนสร่างซาไปตามวิถีของภาษา         ส่วนอีกหมวดก็เป็นคำเฉพาะที่เราไม่ค่อยคุ้นกัน อาจมีเคยผ่านหู ผ่านตามาบ้างแต่เมื่อการเมืองนำมาใช้เลยกลายเป็นที่รู้จักและฮิตขึ้นมา ที่ใกล้ ๆ นี้ก็เช่นคำว่า “อริยะขัดขืน” ที่ใครที่อยู่นอกวงรัฐศาสตร์ได้ยินอาจนึกว่าเป็นการประดิษฐ์คำใหม่ แต่ที่จริงเป็นคำที่มีอยู่ในตำรานานแล้ว เป็นขั้นตอนดำเนินการในการเมืองการปกครองที่มีสอนกันอยู่ทั่วไป         และมาล่าสุดนี้มีอีกคำที่เราไม่ค่อยใช้กันจนเลือน ๆไปแต่พอเป็นข่าวเชื่อว่าคงได้ฮิตกันต่อไปอีกไม่น้อย เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากเหลือเกินในสังคมไทยนั่นคือคำว่า White lie หรือ “โกหกสีขาว” ความหมายก็คือการโกหกเพื่อประโยชน์ หรือบางคนแปลเสียเลิศหรูว่าการไม่พูดความจริงเพื่อความดี         การไม่พูดความจริงนี้หมายรวมไปถึงการพูดความจริงไม่หมด หรือการเลือกพูดบางอย่างเพื่อให้คนเข้าใจผิดในสาระสำคัญด้วย ซึ่งรวมแล้วก็คือการพูดเท็จ พูดโกหกนั่นเอง และแม้จะบอกว่าการพูดนั้นเป็นไปเพื่อความดีก็ต้องบอกว่าไม่จริงตามนั้น เพราะการโกหกนั้นอย่างไรเสียก็ไม่สามารถเป็นไปเพื่อความดีที่แท้ได้ อาจเหมือนจะให้ผลดีอยู่บ้าง แต่หากมองในระยะยาวหรือดูผลกระทบที่รอบด้านที่สุดต้องบอกว่ามันไม่สามารถเป็นไปได้เลยที่การโกหกจะดี เปรียบไปคล้าย ๆ กับการทำ “การุณฆาต” ปลิดชีวิตเพื่อความกรุณานั่นแหละครับ ที่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำดั่งที่บางท่านอาจเชื่อกัน ไม่ดีทั้งต่อตัวผู้ทำ และไม่ดีสำหรับผู้ถูกกระทำนั้นด้วย เพราะแม้เขาจะพ้นทุกข์ที่ทนไม่ได้ต่อหน้านี้เขาก็ยังต้องไปรับทุกข์จากกรรมเดิมนั้นต่อในรุูปแบบใหม่ที่มักจะทรมานกว่าเดิมด้วยซ้ำ พูดถึงการุณฆาตแล้วต่อสักนิดนะครับ         ได้เคยอ่านคำถาม ของหลายท่านตามเวบบอร์ด หรือนิตยสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจปลิดชีพสัตว์เลี้ยงแสนรักที่ทุกข์ทรมานซึ่งเป็นการตัดสินใจที่สะเทือนใจมาก แต่ด้วยทนเห็นเพื่อนที่แสนจะซื่อสัตย์นั้นโหยหวน หรือทุกข์ทนไม่ไหวเลยต้องทำให้พ้นสภาพนั้นไป         ซึ่งที่จริงอาจต้องไปแยกแยะคำว่าสภาพนั้นกันอีกทีว่าคือสภาพที่ สัตว์ทุกข์ หรือคนเลี้ยงทุกข์อยากหนีให้พ้นภาพนั้นกันแน่ แต่เชื่อว่าผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ย่อมมีพื้นจิตใจที่เอื้ออาทร กรุณาอยู่แล้ว เพียงแต่หากสังเกตุไม่ดีอาจชั่งน้ำหนักไม่ถูกว่าสิ่งที่ทนไม่ได้คืออะไร ประเด็นนี้เป็นข้อสังเกตุเผื่ออนาคตใครมีโอกาสต้องตกอยู่ในสภาพนี้อาจได้ลองเฉลียวใจก่อนตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตดูสักนิดเสียก่อนทำอะไรไป         ปัญหาของผู้ถามก็คือ เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเศร้ามาแล้วเกิดข้อสงสัยกันขึ้นว่าการทำเช่นนั้นเป็นการผิดศีลข้อ 1 ปาณาติปาตไหม ? ทำแบบนี้ได้บุญ หรือบาปกัน ?         ซึ่งการตอบเรื่องกรรมนั้น พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่าเป็นเรื่องอจินไตย คือเรื่องที่ไม่ควรคิด ไม่ควรตอบเพราะเป็นเรื่องซับซ้อนเหนือความสามารถของมนุษย์ธรรมดาจะตอบได้ ขืนตอบไปอาจผิด และอาจเสียจริตกันได้ ดังนั้นผมขอยกเอาหลักเกี่ยวกับการล่วงละเมิดศีลข้อ 1 ว่าอย่างไรถึงเรียกว่าศีลขาด อย่างไรเรียกว่าการกระทำนั้นผิดศีลมาตอบนะครับ         ท่านแยกว่าหากมีองค์ประกอบในการกระทำนั้นครบองค์ 5 ก็ถือว่าผิดศีล เป็นบาปก็คือ 1.สิ่งนั้นมีชีวิต 2.รู้ว่าสิ่งนั้นมีชีวิต 3.ตั้งใจให้สิ่งนั้นสิ้นชีวิต 4.มีการกระทำเพื่อให้สิ่งนั้นสิ้นชีวิต และ 5. สิ่งนั้นสิ้นชีวิต         ก็ลองดูกันเองนะครับสำหรับใครที่ถามเรื่องการุณฆาตว่ามันครบองค์ไหม หากครบก็คือผิดนั่นแหละครับ จะด้วยความรัก ความสงสาร แต่อย่างไรก็ผิดอยู่ดี เพียงแต่ผลสะท้อนกลับอาจไม่แรงนักเพราะผู้ทำไม่มีใจยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย         กลับมาที่เรื่องการโกหกกันต่อนะครับกับคำถามที่ว่าแล้วจะทำอย่างไรล่ะ หากอยู่ในสถานการณ์ที่เมื่อพูดความจริงแล้วเรื่องทุกอย่างจะเลวร้ายลง ตัวอย่างชัด ๆ ก็อย่างเรื่องความเจ็บป่วยของผู้ที่รับความจริงไม่ได้ ขืนพูดไปตรง ๆ ตามสภาพโรคาพยาธิจริง ๆ คนฟังอาจเสียใจจนเสียชีวิตจากข่าวร้ายที่ออกจากปากเราก่อนเสียชีวิตจากโรคร้ายเสียอีก         คำตอบนี้ไม่ยากครับ และเช่นข้างบนผมไม่ตอบเองขอนำคำของพระพุทธเจ้าท่านมาบอกต่อแล้วกันท่านสอนว่าการพูดนั้นต้องประกอบด้วยเงื่อนทั้ง 5 ประการ ไม่สามารถขาดประการประการหนึ่งได้ หากไม่ครบก็ไม่พูดเสียดีกว่า 5 ประการนั้นมี 1. เป็นความจริง 2. ไพเราะ อ่อนหวาน 3. ถูกเวลา กาละเทศะ 4. มีเมตตา 5. เป็นประโยชน์         ดังนั้นไม่เฉพาะสถานการณ์ตามคำถามที่ถาม แต่กับทุกสถานการณ์ที่เราควรยึดหลักที่ท่านมอบไว้ให้นี้ในการพูด หรือสื่อสาร และจากองค์ประกอบทั้ง 5 นี้จึงชัดเจนว่าขึ้นชื่อว่าพูดไม่จริง พูดเท็จ พูดโกหกนั้นอย่างไรเสียก็เป็นบาป เป็นอกุศลส่วนจะเป็นสีดำสนิท หรือออกเทา ๆ ก็แล้วแต่จิตของผู้พูดขณะพูดครับ แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่สีขาวแน่ “โกหกสีขาว” นั้นไม่มีอยู่จริงครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *