Category : Intania

ครู 4.0

by : Admin      2018-02-08      Intania      0 comments

วารสาร Intania ยุคนี้เป็นยุค 4.0 ผู้นำมีวิสัยทัศน์ว่าจะสร้างประเทศให้เป็นประเทศไทย 4.0 ทำให้ประชาชนในทุกวิชาชีพต้องทำตัวให้ 4.0 ไปด้วย ซึ่งในวันครูที่ผ่านมาที่ผมมีคิวจัดรายการวิทยุการศึกษานั้นในรายการมีการเปิดประเด็นคำถามว่าครู 4.0 นั้นเป็นเช่นไร ผมเห็นว่านี่เป็นคำถามที่ดีมากเลยขอนำมาแบ่งปันทางนี้ด้วย เพราะนี่เป็นคำถามที่ไม่ควรจะเพียงใช้ความรู้สึกอัตโนมัติยามได้ยินคำว่า 4.0 มาตอบแบบเหมา ๆ รวม ๆ ว่าก็คงหมายถึงการนำเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต โซเชียลหรือความล้ำสมัยต่าง ๆ มาใช้ในวิชาชีพนั้น ๆ แต่เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างชัดเจน เพราะถ้าภาพเป้าหมายผิด ที่ทุ่มเทพยายามผลักดันเดินทางกันเหนื่อยยากนั้นก็จะผิดตามไปด้วย เหมือนอย่างวันหยุดยาวซาวเสียงสมาชิกทุกคนในบ้านก็บอกจะไปเชียงใหม่กัน ถามลูก ลูกก็บอกเชียงใหม่ ถามหลาน หลานก็ไปเชียงใหม่ ถามปู่ ถามย่าก็ไปเชียงใหม่ ทุกคนในบ้านเก็บกระเป๋าเตรียมสัมภาระเข้าของจะไปเชียงใหม่กันหมด แต่พอเอาเข้าจริงยังไม่มีใครรู้เลยว่าเชียงใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร สภาพภูมิอากาศร้อนเย็นแค่ไหน ที่เที่ยวมี อะไรบ้าง อาศัยได้ยินแต่เสียงลือ เสียงเล่าอ้างว่าเชียงใหม่นี้สวยงามน่าไป ก็รีบสรุปโปรแกรมกัน จนสุดท้ายอาจมีการติดห่วงยางไปด้วยหวังจะไปเล่นน้ำด้วยเสียอย่างนั้น ก็ไม่ต่างจากยุค 4.0 นี่เหมือนกันครับ จะไปกันทราบหรือยังว่า 4.0 หน้าตาเป็นอย่างไร จะตอบคำถามนี้ให้เห็นภาพต้องทราบก่อนว่าแล้ว 1.0 2.0 3.0 คืออะไร ซึ่งจากที่ให้คำจำกัดความกันไว้ ก็พอกล่าวได้ว่า - ประเทศไทย 1.0 ก็คือสภาพประเทศที่เราคุ้นเคยมาตลอดช่วงชีวิตคือเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนดำรงชีพด้วยการทำเกษตร เพาะปลูก เก็บเกี่ยวนำผลผลิตไปขาย จะมีแปรรูปบ้างก็เป็นการทำกันในครัวเรือน - ประเทศไทย 2.0 ก็เป็นยุคถัดมาที่เราต้องการเปลี่ยนประเทศจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม มีการเริ่มทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีการกู้เงินมาลงทุนในระบบสาธารณูปโภค รัฐบาลส่งสเริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น - ประเทศไทย 3.0 ก็ขยับมาอีกนิดในช่วงที่เราจะเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ปรับระดับของอุตสาหกรรมให้กลายเป็นอุตสาหกรรมหนัก ยกระดับเครื่องจักรในโรงงานเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัย อัตโนมัติทั้งระบบเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าออกมาได้เป็นจำนวนมากที่สุด จนมาถึงวันนี้ที่เราบอกจะให้เป็นประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งไปในเรื่องของการผลิตนวัตกรรม สินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถเติบโตได้แบบเท่าทวี นี่เป็นนิยามที่มักใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งหากพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่านั่นเป็นเพียงภาพภายนอก ที่หากจะเอาให้ชัดจริง ๆ เราต้องรู้ถึง “แก่น” ของแต่ละยุคนั้นว่า 1 2 3 และ 4 โดยเนื้อแท้แล้วคืออะไร ซึ่งหากเจาะลึกลงไปในมิติของ “วิถีชีวิต” หรือ “วิธีคิด” ก็พอจะสามารถบอกได้ว่า ยุค 1.0 เป็นยุคของสังคมเกษตรกรรม ยุคที่คนทำงานหนักแต่ได้ผลผลิตน้อย ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ทำมากได้น้อย ยุค 2.0 เป็นยุคสังคมอุตสาหกรรมเบา มนุษย์เริ่มทำเครื่องทุ่นแรงในการทำงานมาใช้ในการผลิต เพื่อให้ทำงานได้ไวขึ้น ทำงานน้อยลง ได้ผลมากขึ้น ยุค 3.0 เป็นยุคสังคมอุตสาหกรรมหนัก สังคมที่ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย เครื่องจักรสามารถผลิตสิ่งของออกมาในปริมาณที่มาก เรียกได้ว่า ทำน้อยลงไปอีกแต่ได้ผลมากขึ้นอีก ส่วนยุค 4.0 คือยุคสังคมแห่งการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำงาน โดยการทำอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ หรือความคิดทางด้านนวัตกรรม นั่นก็คือ “การทำให้น้อยที่สุดแต่ให้ได้ผลออกมากที่สุด” นั่นเอง แต่การสรุปด้วยคำ “ทำน้อยได้มาก” นี้แม้จะตรงและเห็นภาพชัดแต่ก็อาจทำให้คนฟังรู้สึกถึงความไม่ดีแต่ฝ่ายเดียวได้ ดังนั้นก็ขอเตือนให้มองการทำน้อยได้มากนั้นในมุมที่สร้างสรรค์ นั่นคือมุมของการบริหารที่จะต้องบริหารทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยความฉลาดถึงขีดสุด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางงบประมาณที่จะต้องลงทุนให้น้อยที่สุดแต่ได้ผลตอบรับมากมายมหาศาลอย่างที่เรียกว่า Start Up ทรัพยากรด้านช่องทางที่ต้องใช้ช่องทางที่ถูกและกว้างไกลที่สุดอย่างโลกไซเบอร์ หรือต้องใช้ทรัพยากรด้านเวลาให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งก็มักจะเป็นการใช้อินเตอร์เน็ต (นั่นทำให้คนมอง 4.0 ติดอยู่แต่กับเรื่องของเทคโนโลยี) พอทราบแก่นเช่นนี้แล้วคำตอบก็ไม่ยากเกินไปแล้วครับ หน้าที่ของครู 4.0 จึงต้องสามารถสอนให้ศิษย์มีความสามารถในการทำน้อย ได้มาก แต่ไม่ใช่สอนให้ขี้เกียจ หรือคดโกงนะครับ ครูต้องสอนเด็กให้มีความคิดทางด้านนวัตกรรมเพื่อมาบริหารทรัพยากรสังคม ประเทศ และโลกใบนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คือการทำน้อยแต่ได้ผลผลิตในการแก้ปัญหาทางสังคมได้มาก ส่วนการจะพึ่งพาเทคโนโลยี หรือไม่นั้นผมมองว่าเป็นประเด็นรองลงไป นี่คือหน้าที่ของครูยุค 4.0 ครับ ขณะที่ตัวครูเองก็ต้องเป็นครู 4.0 ด้วยเช่นกัน นั่นคือต้องเป็นครูที่สอนศิษย์น้อยแต่ศิษย์กลับได้ผลมาก แล้วสอนอย่างไรให้น้อยแล้วเด็กได้มาก คำตอบก็คือการสอนให้เด็กรักที่จะไปหาความรู้กันเองนั่นเองครับ เพราะเมื่อครูสามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดนิสัยการรักที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองพร้อมให้เครื่องมือในการไปแสวงหาความรู้นั้นแก่เด็ก ผลที่ตามมาจะทวีค่าอย่างนับไม่ถ้วน เด็กจะตามศาสตร์ใหม่ ๆ ด้วยตัวเองได้ตลอดไม่ต้องรอเพียงเข้าชั้นมาเรียนกับครู นี่ล่ะครับ สอนน้อยได้มาก สุดท้ายผมขอสรุปครูยุคต่าง ๆ ดังนี้ครับ ครู 1.0 สอนให้เด็กจำ ครู 2.0 สอนให้เด็กคิด ครู 3.0 สอนให้เด็กวิเคราะห์และสังเคราะห์ ครู 4.0 สอนให้เด็กไปหาความรู้ได้เองครับ เอ..ว่าแต่วิศกร 4.0 นี่จะเป็นอย่างไรกันนะ


แสดงความคิดเห็น