Category : 40+

บนบานศาลกล่าว

by : Admin      2019-02-05      40+      0 comments

คนจำนวนไม่น้อยที่ยามอยากได้อะไรก็ไปอ้อนวอน ติดสินบน หวังพึ่ง เอาจากสิ่งลี้ลับ
จากอำนาจวิเศษโดยละเลยการสร้างเหตุที่เหมาะสมต่อการไปถึงจุดที่ต้องการ

บนบานศาลกล่าว เป็นคำติดหูที่ได้ยินกันจนชิน แต่ที่น่าคำนึงมากกว่าการได้ยินได้ฟังก็คือ
การกระทำอาการดังกล่าวของคนจำนวนไม่น้อยที่ยามอยากได้อะไรก็ไปอ้อนวอน
ติดสินบน หวังพึ่ง เอาจากสิ่งลี้ลับ จากอำนาจวิเศษ

โดยละเลยการสร้างเหตุที่เหมาะสมต่อการไปถึงจุดที่ต้องการนั้น

อาการนี้เป็นกันในทุกเพศและทุกวัย เริ่มจากเด็กที่พอจะรู้ความพออยากได้ของเล่น
ก็ขอเอากลับซานตาคลอสบ้าง ตัวการ์ตูนผู้วิเศษบ้าง ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเป็นด้วยความยังไม่เดียงสา

พอโตขึ้นหน่อย เข้าสู่วัยรุ่น รู้ความมากขึ้นแล้ว แต่พออยากเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ สถาบันดัง ๆ
หรืออยากมีแฟนสวย ๆ หล่อ ๆ ก็ไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันจนเป็นภาพเจนตา
แบบนี้นี่ก็ยังพอทำเนาว่ายังโตไม่เต็มที่หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ


แต่พอเรียนจบทำงานแล้วครั้นพออยากได้ตำแหน่งใหม่ อยากได้เงินเดือนเพิ่มก็ยังหนีไม่พ้นจากการไปบวงสรวง

แบบนี้เริ่มต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในการทำใจยอมรับ
ว่าเหตุใดกันที่วัยวุฒิรวมถึงคุณวุฒิก็มากพอต่อการถูกเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว
แต่ไฉนยังทำอาการเช่นนี้อยู่ สุดท้ายกับในวัยเจนโลก ผ่านโลกมามาก ผ่านประสบการณ์มานับไม่ถ้วนแล้ว


แต่ก็ยังคงยกมือท่วมหัวอ้อนวอนขอสิ่งที่ตนปรารถนา 


แบบนี้ก็เข้าใจยากที่สุดว่าด้วยประสบการณ์อันโชกโชนที่ควรจะมีความเข้าใจต่อสรรพสิ่งมากเพียงพอ
ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านโลกมาจนปรุโปร่งควรที่จะเป็นไทแก่ตนเองได้

กลับยังคงต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอกกันอยู่


ที่พอเป็นข้ออ้างก็คือ ทั้งหมดนี้ทำเพื่อให้เกิดความสบายใจ
เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการที่จะมุ่งมั่นฝ่าฟันภารกิจ


ซึ่งก็คงต้องถามใจตัวผู้ทำดูว่าที่ทำนั้นทำเพื่อความสบายใจหรือทำด้วยคาดหวังผลกันจริง ๆ 


ซึ่งคำตอบนั้นหากไม่อคติเข้าข้างตนเองเกินไปคงต้องยอมรับว่าหลายคนอธิษฐานไป

ก็แอบหวังผล (ง่าย ๆ เร็ว ๆ ไม่ต้องเหนื่อย) นั้นไปด้วย มีน้อยคนเหลือเกินที่จะอธิษฐานได้อย่างถูกต้อง


“แล้วอย่างไรถึงจะเรียกว่าอธิษฐานได้ถูก ?”
ก่อนตอบเรามาดูความหมายของคำ ๆ นี้กันก่อนครับ 

อธิษฐานนั้นมี 2 นัยยะ

นัยยะแรก คือ การตั้งใจมุ่งผลอย่างใด อย่างหนึ่ง ตั้งจิตปรารถนา
ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลที่ตนต้องการ
ซึ่งนัยยะนี้ก็คือการบนบานศาลกล่าวที่เพิ่งคุยกันไปนั่นเอง


ขณะที่การอธิษฐานในนัยยะที่ 2 คือการตั้งใจหรือการผูกใจ การรักษาสัจจะ
ความตั้งมั่นในดำริที่มุ่งมั่นในการการกระทำสิ่งดี ๆ

ซึ่งการอธิษฐานแบบนี้ล่ะครับที่ผมอยากใช้คำว่าอธิษฐานที่แท้
หรือจะเรียกว่าอธิษฐานแบบชาวพุทธก็ได้

เพราะนี่เป็นการอธิษฐานไปที่เหตุ ตั้งสัจจะวาจา ตั้งใจ
มีความดำริมั่นที่จะมุ่งมั่นทำเหตุดีเพื่อให้เกิดผลดีตามที่หวังนั้น
ซึ่งต่างจากการอธิษฐานในแบบแรกนั้นเป็นคนละขั้ว หรือคนละด้านเลยทีเดียว

เพราะแบบแรกเป็นการมุ่งมั่นไปที่ผล หรือถ้าจะพูดแบบโหด ๆ หนัก ๆ
อาจบอกว่าเป็นการอธิษฐานแบบโลภมาก จะเอาแต่ผล เอาแต่ได้

ทั้งยังเป็นการเอาผลแห่งความสำเร็จไปฝากไว้ภายนอกขึ้นอยู่กับการดลบันดาล
ความพอใจ เป็นการพยายามติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์


ขณะที่อธิษฐานแบบพุทธคือการตั้งสัจจะที่จะสร้างเหตุ

เป็นเพียงการแจ้งแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึงความตั้งใจดีของเรานี้

ถ้าจะขอ ก็คือการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเป็นกำลังใจให้
หรืออย่าให้มีอะไรมารบกวนเราขณะที่เรากำลังมุ่งสร้างเหตุนี้  

ก็ลองตรองดูครับว่าแบบไหนน่าจะทำให้ผลเกิดขึ้นได้จริงมากกว่ากัน

ต่อให้คนที่ขี้เกียจสุด ๆ อยากได้ผลแบบง่าย ๆ
หากไม่อคติก็ยังสามารถตอบได้ไม่มีทางผิดเลยว่าต้องเป็นการทำเหตุแน่นอน


แล้วอย่างนี้ทำไมคนถึงมักอธิษฐานแบบแรกมากกว่าแบบหลัง ?


คำตอบข้อแรกคือ คนอาจไม่รู้ คิดว่าการอ้อนวอนขอเป็นวิธีที่จะทำให้สำเร็จได้จริง
เพราะได้ยินมานาน เชื่อสืบๆ กันมา


คำตอบอีกข้อคือ คนรู้เพียงแต่อาจเห็นว่ามีทางเลือกอื่นที่สบายกว่า
เลยลองเลือกทางนั้นดู ด้วยนึกว่าก็ไม่เสียหายอะไร


แต่ไม่ว่าจะทำด้วยรู้ หรือไม่รู้ก็ไม่ควรทำทั้งนั้น เพราะสุดท้ายแล้วหากการอ้อนวอนขอครั้งนี้สำเร็จ
ก็เท่ากับปลูกฝังนิสัยอันย่ำแย่ให้กับตัวเองในอนาคตต่อไป

เพราะเห็นว่าครั้งก่อนขอแล้วได้ ต่อไปอยากได้อะไรก็ขออีก
ไม่ได้เจ้าพ่อองค์นี้ ก็วิ่งรอกไปหาเข้าพ่อองค์อื่น เทพองค์อื่นที่ร่ำลือกันว่าขลังกว่า

สุดท้ายกลายเป็นคนทำเหตุเองไม่เป็น


จากนี้เวลามีโอกาสสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ใช้โอกาสนั้นมาอธิษฐาน (จริง ๆ)
ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านช่วยให้เราสามารถเดินทางด้วยตนเอง
นั่นล่ะครับรับรองความสำเร็จอันแท้จริงในชีวิตได้เลยครับ


แสดงความคิดเห็น