Category : Intania

มารผจญ

by : Admin      2019-04-03      Intania      0 comments

มารผจญ


    เวลาคนจะทำความดีแล้วมีอุปสรรคมาขัดขวางก็มักจะมีการเปรยถึงคำเปรียเทียบคำหนึ่งขึ้นมาเสมอ คำนั้นคือ “มารผจญ” ส่วนเมื่อมารมาผจญ มาขัดขวางแล้วใครจะยอมแพ้มาร คือล้มเลิกความตั้งใจอันดีที่จะทำความดีนั้น หรือจะลุกขึ้นสู้ มุ่งมั่นทำความดีนั้นให้สำเร็จ ก็ขึ้นอยู่กับกำลังและบารมีของแต่ละคน ดั่งอีกคำคุ้นหูที่ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” 2 คำนี้แม้จะฟังดูโบราณหน่อย แต่หากตรองให้ดีจะพบว่ายังเข้าสมัย ยังคงเป็นความจริงอยู่มากโดยเฉพาะกับคำหลังที่เป็นเสมือนบททดสอบของผู้จะเป็นใหญ่กันจริง ๆ ว่าเมื่อมีอุปสรรคมาขวางแล้วจะมีความกล้าแข็งพอที่จะฝ่าฟันไหม ใครที่สู้จนชนะก็จะกลายเป็นผู้มากบารมี มีคนนับหน้าถือตา ยิ่งอุปสรรคหนักแค่ไหน บารมียิ่งมากเท่านั้น จนหลายคนที่ผ่านมาได้แล้วย้อนระลึกถึงจะมักเอ่ยปากขอบคุณอุปสรรคหนักนั้น ๆเสียด้วยที่ทำให้เขามีวันนี้ เพราะถ้าชีวิตไม่มีอุปสรรคสุดท้ายมักจะลงเอยไปที่ความถดถอยเหมือนไม่มีบททดสอบมาทำให้เกิดพัฒนาการ

    ถึงขนาดมีการบอกว่าสังคมที่เจริญนั้นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งก็คือผ่านวิกฤติหนัก ๆ มา เเพราะวิกฤตินั้นจะทำให้สมาชิกในสังคมได้เรียนรู้ ต้องดิ้นรนพัฒนาเพื่อเอาตัวให้รอดออกจากวิกฤตินั้น ทั้งยังทำให้มีภูมิต้านทานในอนาคต ไม่ต้องอื่นไกลที่ยังจำกันได้ดีก็คือตัวอย่างใกล้ตัวของเราเองที่เคยล้มจากวิกฤติการเงินที่มาจากภาคอสังหาที่เกิดภาวะฟองสบู่พองจนแตก นำพาเศรษฐกิจรวมล่มสลายที่เรียก “ต้มยำกุ้ง” ในปี 40 จนเมื่อเราเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจนขึ้นใจ เห็นภัยของความฟุ้งเฟ้อ เห็นโทษของการไม่พอเพียง ขาดภูมิคุ้มกันและไร้ซึ่งเหตุผล หลังจากนั้นสังคมเราก็มีความต้านทานในปัญหานี้เป็นอย่างดี จนทำให้วิกฤติการเงินโลกในกาลต่อมาไม่สามารถทำร้ายเราได้

    นี่ล่ะครับ มารมา บารมี (และปัญญา) ย่อมเกิด ถ้าไม่ยอมแพ้ไปก่อน

พูดถึงมารมามากจนหลายท่านอาจนึกไปถึงว่านี่เป็นเพียงแค่คำเรียกเปรียบเปรย หรือเป็นเรื่องปรัมปรา มารเป็นเพียงปีศาจในตำนานที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งก็ไม่ได้จะมายืนยันว่ามารมีจริงหรือไม่ แต่เพียงอยากนำคำสอนโบราณเกี่ยวกับมารนี้มาฝากครับ

    ในความเชื่อทางตะวันออกของเรามีการระบุความหมายของมารไว้ว่า “มาร” มีรากศัพท์มาจากคำว่า มรฺ ที่แปลว่า "ตาย" หรือมารก็คือ "ผู้ทำให้ตาย” ที่หากระบุเป็นตัวตนชัดเจนก็จะหมายถึงเทวดาประเภทหนึ่งที่มีใจอกุศลชอบคอยขัดขวางไม่ให้คนได้ทำบุญ ขณะที่ในเชิงปุคลาธิษฐานจะหมายไปถึง สิ่งใด ๆ ก็ตามที่ฆ่า หรือพรากคนให้ตายหรือหมดโอกาสในการกระทำความดี กีดกัน ขวางกั้นไม่ให้เกิดผลสำเร็จอันดี จากคุณอันประเสริฐ โดยมิได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตเท่านั้น

    มารที่สำคัญในตำราทางพุทธเราที่คุ้นเคยกันดีก็คือพญามารหรือ “ท้าววสวัตตี” ที่เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีกับบุตรสาวทั้ง 3 คือนางตัณหา ราคะ และอรดีที่มารังควาญ มาหลอกล่อพระพุทธเจ้า แต่สุดท้ายพระพุทธเจ้าก็สามารถฝ่าฟัน ต่อสู้กับมารทั้งปวงนั้นจนสำเร็จ และนอกจากมารที่เป็นตัวตนนี้แล้วในคัมภีร์ยังมีการแบ่งประเภทของมารแยกย่อยออกไปอีกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

    1. กิเลสมาร คือ กิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลงที่คอยขัดขวางไม่ให้เราทำความดี

    2. ขันธมาร คือ ร่างกายของเราเองที่อาจมีความพิการ บกพร่องหรือเสื่อมจนทำให้ขาดโอกาสจากการทำความดีเช่นไม่สามารถเดินทางไปทำความดี ไปฟังธรรมได้

    3. อภิสังขารมาร คือ บาปอกุศลที่ส่งผลร้ายให้เราไม่สามารถทำความดีนั้นได้

    4. เทวบุตรมาร เป็นคน บุคคลที่มาขัดขวางไม่ให้เราทำดี

    5. มัจจุมาร คือ ความตายที่ตัดรอนชีวิตในภพชาติที่สามารถทำความดีได้ให้หมดโอกาสไป

    จะเห็นได้ว่าเราเองได้ถูกมารแท้ ๆ นี้มากลั่นแกล้งอยู่ตลอด เป็นเรื่องใกล้ตัวเอามาก ๆ เสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิเลสมาร ที่ก็คือกิเลสในใจของเราเองที่คอยฆ่าเราออกจากทางแห่งความดี ขันธมารก็คือร่างกาย กำลังกาย กำลังความจำของเราเอง  ที่คอยขัดไม่ให้เราสามารถดำเนินชีวิตเพื่อความดีได้เต็มที่ เช่นเดียวกับอภิสังขารมารหรือบาปอกุศลที่มาส่งผลให้เราใช้ความคิดหรือกระทำไปในทางความชั่วเป็นที่เดือดร้อนแก่ตนภายหลัง สุดท้ายก็คือมัจจุมารหรือความตายที่เป็นเหมือนมารมาพรากชีวิตเราออกไปภพชาติอันเหมาะสมที่จะกระทำความดี จะมีก็เพียงเทวบุตรมาร ประเภทเดียวที่อยู่นอกตัวเราที่มาขัดขวางการทำดีของเรา

    สรุปแล้วจะเห็นว่ามารนั้นเอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องปรัมปราในตำนานเลยแต่กลับเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของเราในทุกวันนี้เอง ความเจ็บ ความตาย ความคิด กิเลส บาป อกุศลเหล่านี้คือผู้ที่มาขัดการทำดีของเรา 

    ทราบเช่นนี้แล้วก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ในทุกวันที่มารมาผจญเราก็มุ่งมาสร้างบารมีให้ตัวเองกันด้วยการพยายามปราบมารต่าง ๆ ที่พยายามจะพรากเราไปจากความดีนี้กันนะครับ

มารมี บารมี (และปัญญา) จะเกิดครับ


แสดงความคิดเห็น