เอื้อเฟื้อตน-เอื้อเฟื้อพระ

        ในรอบปีที่ผ่านมานี้มีข่าวร้อน ร้อนมาก ถึงร้อนที่สุดอยู่หลายเรื่อง แต่หากเฉพาะเจาะจงลงไปที่ข่าวร้อนด้านร้ายเกี่ยวกับแวดวงศาสนา ข่าวที่ร้อนระอุที่สุดเห็นจะไม่มีข่าวไหนเกินข่าวของพระที่รู้จักกันในนาม “หลวงปู่เณรคำ”         รายละเอียดมีอะไรบ้างคุณ ๆ คงทราบกันดีอยู่แล้วเพราะสื่อกระแสหลักทุกช่อง ทุกฉบับตีข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง ยาวนานขณะที่แม้จะเป็นเรื่องพระแต่สื่อทันสมัยอย่างโซเชียล เนตเวิร์กก็เล่นข่าวนี้กันจนต้องเรียกว่าข้อมูลท่วมโลกไซเบอร์ ไล่ไปจนถึงสื่อโบราณอย่างสภากาแฟที่ทุกวงก็ล้วนอภิปรายกันอย่างเมามัน         ส่วนหนึ่งก็มาจากยิ่งสาว ยิ่งมีประเด็นเพิ่มเกิดขึ้นมากชนิดชวนให้สังคมตะลึงได้ทุกวัน เริ่มจากภาพไม่เหมาะในการนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวกับการใช้ของไม่เหมาะกับสมณสารูป ไปถึงเรื่องเงินบริจาคจำนวนมหาศาล การสร้างพระแก้วมรกตที่ไม่ได้รับอนุญาต การอวดอุตริคุยกับพระอินทร์ แบบคฤหาสน์หลังงามที่มีจาคุซซี จนถึงเรื่องสำคัญคือเพศสัมพันธ์กับเด็กสาวจนมีลูก ถึงขั้นอาจจะเลยเถิดไปถึงเรื่องการฟอกเงิน เรื่องยาเสพติด         เรียกว่าหากมองเป็นภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยทั้งฉากรัก ฉากบู๊ ฉากการซ่อนเงื่อนชวนให้คนตามดูได้ตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งมาบวกกับฝีมือการปรุงแต่งนำเสนอของสารพัดสื่อยิ่งทำให้ชวนติดตามกันแบบใจจดจ่อไม่กระพริบตากันเลยทีเดียว เรื่องคดีความ ความกระจ่างคงยกให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับ “ชีวิตรื่นรมย์” บทนี้คงอยากชวนคุณ ๆ คิดให้เลยขึ้นไปถึงท่าทีของพุทธศาสนิกชนที่ควรมีในสังคมนับต่อจากเหตุการณ์ใหญ่นี้         หากไล่ย้อนคดีดังเกี่ยวกับพระที่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ไม่ว่าใครจะผิดหรือถูก แต่สุดท้ายสรุปได้ว่าพระมีศัตรูร่วมกันอยู่สองอย่างนั่นคือ “สตรี” กับ “เงินตรา”         ซึ่งหากพิจารณาให้ละเอียดก็อาจจะมิใช่เรื่องแปลกเพราะพระเองก็มาจากคนทั่วไปที่มีศรัทธาตั้งใจจะเข้ามาหาความรู้ในเพศ-สถานะที่เอื้อต่อการศึกษากว่า นั่นคือเพศของบรรพชิตบวชเป็นพระ ซึ่งระหว่างการฝึกฝน ขัดเกลาตนด้วยข้อวัตรของพระนั้น จำต้องใช้เวลา มิใช่แค่เปลี่ยนสถานะ เปลี่ยนเสื้อผ้าจากเสื้อผ้าของชาวบ้านมาครองผ้าเหลืองแล้วจิตใจจะเปลี่ยนได้เองโดยฉับพลัน นั่นทำให้หากพระรูปใดหากใจไม่แกร่งพอ ระหว่างทางจึงอาจพลาดท่าต่อศัตรูทั้งสองนั้นได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องความต้องการทางเพศหรือเรื่องสตรีที่ พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้พระภิกษุมีท่าทีหรือมีกฎเกณฑ์สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับสตรีไว้อย่างเข้มงวดเป็นขั้น ๆ ดังมีเนื้อความที่ปรากฏในพระสูตรตอนหนึ่งที่ท่าน พระอานนท์ ทูลถาม พระพุทธเจ้า ว่า “พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าดู” “เมื่อจำต้องดู จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” “อย่าพูดด้วย” “เมื่อจำต้องพูด จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” “ต้องตั้งสติไว้”         จะเห็นว่าพระพุทธองค์ท่านเริ่มก็ทรงแนะเลยว่าอย่าดูไม่ต้องพูดถึงการคุย การชิดใกล้ การไปไหนมาไหนร่วมกันเลย         ขณะที่เรื่องเงินตรานั้น ด้วยบารมีของผ้าเหลือง และศรัทธาของมหาชนทำให้มีเงินทองไหลมาง่ายดาย ดังนั้นเช่นกันคือพระรูปใดไม่ฝึกฝนตนจนแกร่งจริงก็อาจพลาดท่าต่อความเย้ายวนของลาภสักการะนี้ได้ง่าย นั่นเป็นในด้านของพระ         แต่ที่สำคัญคือต้องมองในด้านของโยมด้วยว่าโยมเองก็มีหน้าที่ที่จะต้องป้องกันรักษาพระดี ๆ ไว้อยู่คู่พระศาสนา ให้เป็นผู้ที่คอยสละความสุขส่วนตัวไปแสวงหาความจริงหรือยารักษาโรคใจมาให้พวกเราด้วย อย่าไปทำหรือสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้พระเสียได้ง่ายขึ้นมา         เหมือนในหมู่บ้านห่างไกลมีหมออยู่คนเดียว ชาวบ้านก็ต้องคอยรักษาหมอไว้ไม่ให้ลำบากเพื่อจะได้ไปหาสมุนไพร หาความรู้มาช่วยชีวิตชาวบ้าน อย่าไปชวนหมอดื่มเหล้า สำมะเรเทเมาเพราะหากหมอเสียหมอไป คนเดือดร้อนก็คือตัวชาวบ้านเอง         ดังนั้นคนในสังคมก็ควรปฏิบัติต่อพระเช่นนั้นเช่นกันอย่าไปทำให้พระเสียพระ ต้องคอยสอดส่องดูแลให้พระสะดวกในการไปหายา(ใจ)ให้เรา ด้วยการไม่แต่งตัวยั่วยวนจะโดยเจตนาหรือไม่ ไม่ถวายของที่ไม่เหมาะแก่สมณสารูป หรือใช้วิธีคิดแบบชาวบ้าน ชาวโลกแบบโลภ ๆ ที่ใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ไปใช้กับพระ ฯลฯ ซึ่งบางอย่างนอกจากไม่ได้ช่วยให้พระท่านปฏิบัติธรรมเข้มแข็งขึ้นแล้วยังอาจจะกลับทางกัน คือกลายเป็นกระตุ้นให้กิเลสที่ท่านกำลังต่อสู้อยู่กำเริบขึ้น จนท่านอาจแพ้ภัยไปทำให้พวกเราต้องสูญเสียพระดีไปแบบไม่ตั้งใจ ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ที่ต้องคอยปิดช่องที่จะทำให้พระเสียด้วย         พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับพุทธบริษัท4 ซึ่งมีอุบาสก อุบาสิกาด้วยมิได้มอบภาระในการรักษาศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณีเท่านั้น         ดังนั้นพวกเราที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธจึงควรศึกษาพระธรรมวินัยของพระไว้บ้างเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อพระด้วยความเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยอันเป็นอีกทางหนึ่งในการจรรโลงพระศาสนาให้ตั้งมั่นอย่างยั่งยืน และนั่นคือความเอื้อเฟื้ออย่างแท้จริงทั้งต่อตัวเอราเอง และต่อพระสาวกของพระพุทธองค์ส่วนบนของฟอร์ม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *