ไฟฉายแห่งความมืด

        เด็กกลัวความมืด !         จะเด็กเฮี้ยว เด็กซน เด็กกล้าแค่ไหนแต่พอไฟดับ ความมืดมาเยือนเป็นได้ต้องวิ่งหาพ่อ หาแม่ หรือหาเพื่อนเกาะแกะกันไว้แน่น หรือหากหาใครไม่เจอก็หาผ้าห่มมุดคลุมโปงกัน         จะบอกว่าเด็กกลัวผีก็ไม่ใช่เพราะเด็กบางคนเกิดมายังไม่เคยได้ยินเรื่องผีเลย จะว่าไปเด็กบางคนอาจนึกว่าผี(ถ้ามีและเจอ) เป็นเพื่อนหรือตุ๊กตาแสนน่ารักด้วยซ้ำ         “ถ้าเด็กยังกลัวผีไม่เป็น แล้วทำไมเด็กต้องกลัวความมืด ?”         คำตอบคือเด็กกลัวความ “ไม่รู้” ครับ         เขาเพิ่งเกิดมาทุกสิ่งบนโลกล้วนเป็นของใหม่ เขาต้องค่อย ๆ สะสมความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าอะไรปลอดภัย อะไรอันตราย เขายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้ว่าเหตุการณ์ต่อไปอะไรจะเกิด ดังนั้นเมื่อมืดมิดหมดแสง ความกลัวที่มาจากความไม่รู้นี้จึงเกิดขึ้น         ขณะที่ผู้ใหญ่ผ่านมืด ผ่านสว่างมามากจนรู้แล้วว่าในความมืดก็ไม่มีอะไร เพียงเปิดไฟมีแสงมาทุกอย่างก็กลับสู่ภาวะปกติ หรืออาจพูดได้ว่าที่ผู้ใหญ่ไม่กลัวมืดก็เพราะ “รู้” แล้ว         แต่แม้ผู้ใหญ่ไม่กลัวความมืด ผู้ใหญ่ก็ยังมีความกลัวที่ไม่ต่างจากเด็กคือผู้ใหญ่ยังคงกลัวความ “ไม่รู้” อยู่นั่นเอง         ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกินความกลัว “ชีวิตหลังความตาย”         จึงไม่แปลกที่บั้นปลายชีวิตของคนเกือบทั้งหมดมุ่งมาให้น้ำหนักกับความสบายใจของตนในช่วงก่อนจะตาย มุ่งหาหลักประกันในชาติต่อไปผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ผ่านการทำบุญทำทาน แต่อย่างไรความกลัวนี้ก็ยังไม่หายขาด เพราะยังไม่ได้แก้ถึงต้นตอของความกลัว คือเมื่อกลัวเพราะไม่รู้จะแก้ก็ต้องทำให้ “รู้”         ดังนั้นวิธีการแก้ความกลัวชนิดถึงรากก็ต้องมาศึกษา หาข้อมูลให้ชัดว่าตายแล้วจะเป็นอย่างไร จะไปไหน อะไรเป็นเหตุให้ไปดี อะไรเป็นเหตุให้ไปร้าย         เมื่อใดที่มีความรู้เหล่านี้ เมื่อนั้นถึงจะไม่มีความกลัวชีวิตหลังความตายอีก เพราะเหมือนได้เปิด “ไฟฉาย” ที่ส่องทะลุเข้าไปในทางที่มืดมิดนั้นจนกระจ่างแล้ว เห็นแล้วว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร หุบเหวอยู่ทางไหน สัตว์ร้ายที่คอยจ้องเขมือบเราซุ่มอยู่พุ่มไม้ไหน โจรที่คอยดักฉกของเราหลบอยู่มุมตึกใด ที่เหลือคืออาจจะมีความหวาดอยู่บ้างตรงไม่แน่ใจว่าจะจัดการกับมันได้ไหม         เปรียบก็เหมือนเราจะเดินทางจากบ้านไปยังสถานที่ที่เราไม่เคยไป ถ้าไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเส้นทางและสถานที่นั้นเราก็จะกลัว แต่ถ้าเรารู้ชัดแล้วอาจจากหนังสือแนะนำสถานที่ แผนที่แสดงเส้นทาง หรือรูปถ่ายที่เพื่อนส่งมาให้เราก็จะไม่กลัวการเดินทางนั้น เพียงแต่หวั่นว่ายามไปจริงถนนนั้นมันจะเป็นตามรูปไหม เมืองนั้นมันจะใช้ชีวิตเป็นไปตามหนังสือไหม จะมีอุปสรรคอะไรที่นึกไม่ถึงไหม ฯลฯ         ปัญหาคือแล้วจะรู้แผนที่การเดินทางของชีวิตหลังความตายได้อย่างไร         คำตอบสำหรับชาวพุทธเราก็คือการศึกษาจากคัมภีร์ที่มีบอกเส้นทางการเปลี่ยนสภาพช่วงรอยต่อของการตายไว้หลากหลายซึ่งก็พอจัดเป็นกลุ่มได้ว่า หากขณะตายจิตเป็น โทสะ สิ่งที่จะไปพบเจอก็คือสภาพของ นรก หรือ อสุรกาย หากขณะตายจิตเป็น โลภะ สิ่งที่จะไปพบเจอก็คือสภาพของ เปรต หากขณะตายจิตเป็น โมหะ สิ่งที่จะไปพบเจอก็คือสภาพของสัตว์ เดรัจฉาน         แม้จะมีทางแยกย่อยอีกมากแต่โดยรวมแล้วก็คือหากก่อนตายจิตเป็นอกุศลสภาพต่อจากนั้นย่อมไม่น่าชื่นใจแน่นอน         ในทางกลับกันคือหากขณะตายจิตใจเป็น บุญกุศล สิ่งที่จะไปพบเจอก็คือสภาพที่ดีเช่นกลับมาเป็น มนุษย์ เทวดา พรหม หรือแม้แต่พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงคือ นิพพาน ไปเลย         และหากเรารู้คำตอบแล้วก็เหมือนมีแผนที่ ได้อ่านหนังสือแนะนำเส้นทางแล้วว่าทางไหนพาไปเมืองใด คราวนี้ก็เหลือแต่ยามถึงเวลาจริงต้องเดินให้ถูกทางอย่าไปทางที่เขาก็ติดป้ายเตือนแล้วว่าลงเหว ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าการฝึกซ้อมให้ชำนาญทาง ในเมื่อเรารู้แล้วว่าหากขณะตายจิตเป็นอกุศลคือโลภะ-โทสะ-โมหะ เราย่อมไปไม่ดีดังนั้นเราจึงต้องหมั่นสังเกตบ่อย ๆ ว่าจิตใจเราขณะต่าง ๆ นั้นเป็นเช่นไรหากเป็นอกุศลดั่งว่าก็รีบกำจัดเสียเหมือนรู้ว่าผิดทางก็กลับรถย้อนมาทางที่ถูก ซึ่งนอกจากจะได้ความชำนาญแล้วยังเป็นความปลอดภัยไม่ต้องเสี่ยงว่าอยู่ดี ๆ อาจมีเครื่องบินตกมาทับตายขณะกำลังหลงเพลินกับแมวที่บ้านอยู่ตัวเลยต้องกลายเป็นลูกแมวไป         ขณะเดียวกันก็ต้องซ้อมเดินทางถูกให้คล่อง หมั่นทำใจให้เป็นกุศลจะด้วยการหมั่นระลึกถึงความดีที่ตนทำไว้ให้บ่อย ๆ หมั่นสวดมนต์ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังเรื่องดี ๆ พยายามให้ใจคุ้นอยู่กับเส้นทางสายนี้หากนั่งอยู่ในบ้านดี ๆ มีรถบรรทุกพุ่งชนตายตอนนั้นอาจได้ขึ้นสวรรค์ ตามสภาพกำลังบุญของจิตขณะนั้นกันเลย อยากพ้นจากความเป็นเด็กกลัวความมืดกันก็มาฝึกสติให้รู้เท่าทันจิตใจและปรับจิตปรับใจให้เป็นบุญกุศลกันนะครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *