โลกาภิวั(ฒ)น์

        โลกาภิวัตน์         ย้อนหลังไปเมื่อสัก 20-30 ปีก่อนคำนี้จัดว่าเป็นคำฮิตคำหนึ่งในสังคม มีแต่คนพูดถึง มีแต่คนห่วงอนาคตว่าเมื่อโลกก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์นี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเรา         วันนี้ผลเป็นเช่นไร คนไทยเราเตรียมการณ์รองรับได้อย่างเหมาะสมเพียงพอไหม เราเป็นฝ่ายโต้กระแสได้เปรียบหรือเรากลายเป็น “เหยื่อ” โดนกระทำ คงได้คำตอบเชิงประจักษ์ที่เห็นตำตากันดียู่แล้วนะครับ แต่ที่ผมยกคำเก่านี้มาพูดถึงอีกครั้งเพราะอยากให้เราได้ใช้อดีตเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์         จำได้ว่าขณะนั้นเราเอาแต่ฝันเฟื่องว่าเมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์นี้แล้วชีวิตเราจะดีขึ้น ศิวิไลซ์ขึ้น สะดวกสบายขึ้น ซึ่งอาจมีจริงเพียงเรื่องเดียวคือความสบายที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วทั่วถึง ชีวิตเราจึงไฮเทคขึ้นจากข้าวของเครื่องใช้ที่ทันสมัย แต่หากมองเรื่องของชีวิตที่ดีขึ้นนี่ต้องใส่เครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ว่าจริงล่ะหรือ ทั้งยังอาจต้องสาวลึกลงไปถึงคำนิยามกันเลยว่า “ชีวิตดีขึ้น” นั้นหมายถึงอะไร ใช่ควรจะหมายถึงการมีวิวัฒนาการ พัฒนาการ หรือมีความรู้สูงค่าขึ้นใช่หรือไม่ หากใช่ก็น่าต้องมาแยกกันแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนี้ ความรู้ที่ว่าแพร่กระจายรวดเร็ว เรียนรู้ ส่งต่อได้อย่างกว้างไกลนั้นมีคุณค่าเช่นนั้นจริงไหม หรือกลับกันกลายเป็นความรู้ขยะที่ยิ่งรู้ยิ่งอาจพาชีวิตเลวลงด้วยซ้ำ         ส่วนความ ”ศิวิไลซ์” ก็เช่นกัน ทั้งยังน่าจะชัดกว่าด้วยโดยหากเราปรับคำเสียหน่อยคือจากศิวิไลซ์เป็น “อารยะ” เช่นนี้คงเห็นผลเชิงประจักษ์อยู่แล้วนะครับว่าปัญหาสังคมนี้มีมากขึ้น หรือน้อยลง รุนแรงขึ้นหรือเบาบางลง         นี่แหละครับความพลาดพลั้งจากการมองแต่แง่ดีในอดีตโดยขาดวิสัยทัศน์ที่เป็นจริงมารองรับสิ่งที่เกิดขึ้น และปัจจุบันนี้ก็เช่นกันเรากำลังอยู่ในยุคที่เห่อคำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน หรือ AEC ที่แพร่สะพัดไปในทุกวงการโดยเช่นเคยคือเราก็มักมองแต่ด้านดี         และเชื่อไหมครับเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารับมือกับโลกพลาดไปนั้นก็เพราะเราแปลความหมายของคำนี้ผิด เขียนคำนี้ผิด ไม่เชื่อลองสะกดดูซิครับส่วนใหญ่มักจะเขียนคำนี้ว่า “โลกาภิวัฒน์” ซึ่งหากแยกคำตามแบบผมคือเป็นนักผสมศาสตร์ซึ่งผู้อ่านอย่าได้นำไปอ้างอิงที่ไหนเชียว ผมก็จะแยกว่ามาจาก โลก บวกกับ อภิ บวกกับ วัฒนา(พัฒนา) ที่รวมกันแล้วหมายถึงโลกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งใหญ่ ทั้งที่จริงแล้วศัพท์นี้ต้องใช้ว่า “โลกาภิวัตน์” อันมาจาก โลก บวกกับ อภิวตฺตน หมายถึงโลกเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่รวดเร็วกว้างขวาง โดยไม่ได้บอกว่าเปลี่ยนเชิงพัฒนาดั่งที่ใช้กัน และนี่เองเราเลยเอาแต่มองด้านดี จนลืมนึกว่าเปลี่ยนใหญ่นั้นเปลี่ยนในด้านไม่ดีก็ได้ (ดั่งที่เกิดขึ้น)         ปัจจุบันเรายังอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์นี้แม้จะไม่เห่อเหมือนเดิม ฉะนั้นเราควรมีอีกคำที่ใช้บ่อยคือ “วิสัยทัศน์“ ในการวิเคราะห์สถานการณ์ข้างหน้าว่าโลกจะเปลี่ยนใหญ่ไปด้านใด เพื่อที่เราจะได้ก้าวขึ้นไปดักกระแสก่อนเพื่อเป็นหลัก เป็นผู้นำของโลกนี้         ใครมอง และมีวิสัยทัศน์อย่างไรบ้างมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ แต่สำหรับผมมองว่าหลังจากโลกเปลี่ยนใหญ่อีกสักระยะคนทั้งโลกจะเรียกร้องสิ่งหนึ่งซึ่งขาดหายไปตลอดช่วงชีวิตเขา นั่นคือคนจะมุ่งออกแสวงหา “ความจริง” กันมากขึ้น         และความจริงนี้เองเป็นจุดเด่นที่สุดข้อหนึ่งของชาติไทยเรา “ความจริงใจ” ที่ผ่านเป็นรูปธรรมออกมาเป็น “ยิ้มสยาม” อันเป็นสิ่งที่เราควรรักษาไว้ให้มั่น เพราะอนาคตจะเป็นที่โหยหาของคนทั้งโลก เป็นสินค้าที่คนทั้งโลกเต็มจ่ายจ่ายเงินแสนเพงเพื่อให้ได้มา มาร่วมกันดักกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกนี้กันนะครับ !

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *